เอไอเอมุ่งปกป้องสุขภาพ ความยั่งยืนระบบประกัน

#เอไอเอ #ทันหุ้น - เอไอเอ พร้อมเดินหน้าปกป้องสุขภาพลูกค้าผ่านแผนประกันแบบต่างๆ พร้อมกิจกรรมสนับสนุนลดการเจ็บป่วย เผยปี 2568 เป็นปีแห่งการสร้างความยั่งยืนประกันสุขภาพ ตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นดูแล หวังลดต้นทุน และอัตราเงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาลลง ทำให้ไม่ต้องปรับเพิ่มเบี้ย พร้อมย้ำสร้างความเข้าใจทุกฝ่าย ทั้งลูกค้า โรงพยาบาลในการนำ Co-Payment มาใช้
นายเอกรัตน์ ฐิติมั่น ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจประกันสุขภาพ เอไอเอ ประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา เอไอเอ เดินหน้าเตรียมความพร้อมให้กับคนไทยที่มีแนวโน้มอายุยืนมากขึ้น ผ่านผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิตลิงค์) ที่หลากหลายแบบ มาในปีนี้ เอไอเอ จะมาเน้นย้ำถึงความสำคัญในการป้องกันดูแลสุขภาพตั้งแต่ยังไม่เจ็บป่วย ซึ่งนับเป็นหนึ่งในแนวทางสร้างความยั่งยืนให้กับประกันสุขภาพและรวมถึงความยั่งยืนให้กับธุรกิจประกันชีวิตเอไอเอ
นายเอกรัตน์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความยั่งยืนของประกันสุขภาพมี 2 ด้าน คือ ภาวะเงินเฟ้อทางการแพทย์ (Medical Inflation) ที่เร่งตัวขึ้นเร็ว ในปีที่ผ่านมาอยู่ราว 14%และในปีนี้ยังมีแนวโน้มสูงในระดับสองหลักเช่นเดิม ซึ่งอัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์สูงขึ้นส่วนหนึ่งก็มาจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาไปมาก ขณะเดียวกันก็มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น จากการรักษาที่มีความซับซ้อน การใช้เครื่องมือที่ทันสมัย รวมถึงการรักษาแบบเฉพาะทาง ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้นทุนค่ารักษาเพิ่มขึ้น
*ป่วย NCDs มากขึ้น
ขณะเดียวกันประชาชนก็มีการใช้สิทธิประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่ต้องการการดูแลอย่างต่อเนื่อง และใช้ทรัพยากรทางการแพทย์จำนวนมาก อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะพบในประชากรไทยมากขึ้นทุกปี
“นอกจากนี้ โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนเป็นสังคมสูงวัย ก็ทำให้ความต้องการทางการแพทย์เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากกลุ่มนี้เป็นวัยที่มักมีโอกาสป่วยหรือมีภาวะที่ต้องได้รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่แก้ไขได้ยากและต้องการการเตรียมความพร้อมทั้งจากภาครัฐและเอกชน”
นายเอกรัตน์ กล่าวต่อไปว่า กระนั้นก็ตามยังมีกลุ่มโรคที่สามารถป้องกันได้ รวมถึงบรรเทาอาการไม่ให้รุนแรง ผ่านการฉีดวัคซีน เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนไข้เลือดออก เป็นต้น ซึ่งในส่วนของ เอไอเอก็มีการจัดแคมเปญดังกล่าวเพื่อให้ลูกค้าได้รับวัคซีนป้องกัน ซึ่งเมื่อลูกค้าแข็งแรง การเข้าพบแพทย์ด้วยอาการเจ็บป่วยก็ลดลงตามไปด้วย
อย่างไรก็ตามแนวโน้มของการเข้ารับการรักษาพยาบาลยังคงเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาภาคธุรกิจประกันภัยจึงจ่ายเคลมในส่วนของประกันสุขภาพระดับสูง ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงเป็นแบบนี้ต่อ อาจกระทบต่อภาพรวมของระบบประกันสุขภาพ ไม่ว่าจะทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นเพื่อสะท้อนความจริงของต้นทุนการรักษา ไม่ว่าคนนั้นจะเคลมมาก เคลมน้อย หรือแทบไม่เคลมเลยก็ต้องจ่ายในอัตราที่สูงขึ้นเหมือนกันหมด รวมถึงบริษัทประกันภัยอาจชะลอการรับงานประกันสุขภาพ ซึ่งก็เห็นได้จากประกันสุขภาพเด็กที่บริษัทประกันภัยหลายแห่งถอยห่าง และรับงานน้อยลง
จากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงทำให้ภาคธุรกิจประกันภัย ใช้กลไก “โคเพย์เมนต์ (Co-Payment)” หรือการร่วมจ่ายระหว่างผู้เอาประกันกับบริษัทประกัน ซึ่งช่วยลดการใช้สิทธิอย่างเกินความจำเป็น และช่วยสร้างความสมดุลระหว่างการเข้าถึงบริการทางการแพทย์กับความสามารถในการจ่ายเคลมของระบบประกันภัย รวมถึงยังเป็นการชะลอไม่ให้ภาคธุรกิจประกันภัยปรับเบี้ยขึ้นเร็ว
*มุ่งเน้นความยั่งยืน
“ในปีนี้หนึ่งในประเด็นที่เราให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งคือความยั่งยืนของระบบประกันสุขภาพ ซึ่งถือเป็นทิศทางหลักที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในบริษัทของเราเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วทั้งอุตสาหกรรม และเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคนไม่ใช่แค่ธุรกิจประกันภัย เพราะหากไม่ทำอะไรเลย สิ่งที่ตามมาคือเบี้ยประกันจะเพิ่มขึ้นเร็ว เมื่อเบี้ยเพิ่มก็ทำให้คนบางกลุ่มเข้าไม่ถึง ในส่วนของโรงพยาบาลก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน”
นายเอกรัตน์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของ เอไอเอ มีการปรับโครงสร้างเพื่อล้อไปกับเป้าหมาย สร้างความยั่งยืนให้ระบบประกันสุขภาพ โดยตั้งหน่วยงานดูแลธุรกิจประกันสุขภาพขึ้นมา เพื่อทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ ทั้งในเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์ การบริการ กิจกรรมโครงการต่างๆ โดยเน้นการทำงานแบบบูรณาการระหว่างทีมการตลาด ฝ่ายขาย และพันธมิตรภายนอก อย่าง โรงพยาบาล เพื่อให้การออกแบบผลิตภัณฑ์สามารถตอบสนองทั้งความต้องการของตลาดและควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายเอกรัตน์ ย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้บริโภค ตัวแทนประกัน และช่องทางจำหน่ายผ่านธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันส์) สามารถปรับตัวตามได้ทัน ผ่านแนวคิดหลักคือการสร้างความเข้าใจ ไปพร้อมกับสร้างการเปลี่ยนแปลง ทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์ผู้บริโภค และการทำงานร่วมกับเครือข่ายโรงพยาบาล
นายเอกรัตน์ ยังได้กล่าวถึงแนวทางในการคุมต้นทุนของประกันสุขภาพว่า หลังจากมีการใช้เกณฑ์ “Co-Payment (การร่วมจ่าย) หรือ “Deductible” (ค่ารับผิดชอบส่วนแรก) ก็จะต้องมอนิเตอร์ดูว่าเกณฑ์ดังกล่าวช่วยชะลออัตราการเฟ้อค่ารักษาพยาบาลลงได้หรือไม่ สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมลูกค้าในการรักษาพยาบาลตามความจำเป็นได้หรือไม่ รวมถึงความร่วมมือกับโรงพยาบาลในเครือ ถ้าทำได้ก็จะช่วยชะลอการปรับขึ้นเบี้ยได้ ทำให้ให้ผลิตภัณฑ์ยังคงเข้าถึงได้ และไม่สร้างภาระให้กับผู้บริโภคในระยะยาว
“แม้ทางบริษัทประกันจะสามารถต่อรองอัตราค่ารักษาได้ในระดับหนึ่ง เพื่อควบคุมใต้นทุนค่าใช้จ่าย แต่ก็ไม่สามารถทำได้ทันที เนื่องจากโรงพยาบาลเองก็มีข้อจำกัดทางธุรกิจ เช่น ต้นทุนและระบบการบริหารภายใน ดังนั้นแนวทางที่ทำได้คือการ สร้างความเข้าใจร่วมกันในระยะยาว เช่น แสดงให้เห็นว่าหากค่าใช้จ่ายยังคงเติบโตในอัตราสูง จะส่งผลให้เบี้ยประกันเพิ่มขึ้นมากเกินไป ซึ่งท้ายสุดก็จะกระทบกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค บริษัทประกัน หรือโรงพยาบาลเอง”