รีเซต

10 ธันวาคม วันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ

10 ธันวาคม วันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ
PakornR
10 ธันวาคม 2563 ( 15:58 )
711
10 ธันวาคม วันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ

กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เชิญชวนคนไทยร่วมต้านภัยโรคมะเร็งเนื่องในวันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ  

 

 

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรมศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารดำรงนิราดูร สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2511 หน่วยงานของรัฐบาลในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงถือเอาวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปีเป็น “วันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ” มาโดยตลอด โดยมีสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และโรงพยาบาลมะเร็งภูมิภาค 7 แห่งทั่วประเทศของกรมการแพทย์ เป็นหน่วยงานหลักที่ให้บริการด้านการตรวจ วินิจฉัย และรักษาโรคมะเร็ง 

 

สถานการณ์โรคมะเร็ง

 

ปัจจุบัน โรคมะเร็งถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและมีแนวโน้มอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถิติพบว่า มีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ถึงวันละ 336 คน หรือ 122,757 คนต่อปี โดยโรคมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรกในคนไทย ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี,  มะเร็งปอด,  มะเร็งเต้านม,  มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก มีผู้เสียชีวิตวันละ 221 คน หรือคิดเป็น 80,665 คนต่อปี

 

แนวทางป้องกันและลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง

 

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้โรคมะเร็งจะเป็นโรคร้าย แต่เราสามารถปฏิบัติตนเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งได้ ด้วยการใช้หลักการ 5 ทำ 5 ไม่ ห่างไกลมะเร็ง

 

โดย 5 ทำ ได้แก่

 

1) ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

2) ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด

3) กินผักผลไม้        

4) กินอาหารหลากหลาย

5) ตรวจร่างกายเป็นประจำ

 

ส่วน 5 ไม่ ได้แก่

 

1) ไม่สูบบุหรี่หรือสูดดม ควันบุหรี่                

2) ไม่มั่วเซ็กซ์

3) ไม่ดื่มสุรา

4) ไม่ตากแดดจ้า

5) ไม่กินปลาน้ำจืดดิบ หากปฏิบัติตามหลักการนี้จะสามารถป้องกันโรคมะเร็งได้ 

 

 

สัญญาณอันตรายโรคมะเร็ง

 

นอกจากนี้ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของตนเองจาก 7 สัญญาณอันตรายโรคมะเร็ง ได้แก่

1) ระบบขับถ่าย ที่เปลี่ยนแปร

2) แผลที่ไม่รู้จักหาย

3) ร่างกายมีก้อนตุ่ม

4) กลุ้มใจเรื่องการกลืนกินอาหาร

5) ทวารทั้งหลายมีเลือดไหล

6) ไฝ หูด ที่เปลี่ยนไป

7) ไอ และ เสียงแหบ จนเรื้อรัง เป็นต้น

 

หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติเรื้อรังควรรีบปรึกษาแพทย์และควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาโรคมะเร็งระยะเริ่มแรกเป็นประจำ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง