"ครม." ไฟเขียวท่าเรือกรุงเทพลดค่าระวางตู้คอนเนอร์แก้ปัญหาขาดแคลน
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 30 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. รับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในธุรกิจการขนส่งสินค้าทางทะเล โดยมีแนวทางดังนี้คือ 1. ให้ท่าเรือกรุงเทพปรับลดค่าภาระตู้สินค้าเปล่าขาเข้า (ค่าระวาง หรือค่าธรรมเนียมขนย้าย) ผ่านท่าเรือกรุงเทพในอัตรา 1,000 บาทต่อทีอียู เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2564 รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเป็นจำนวนเงิน 5.28 ล้านบาท และ 2. ให้ท่าเรือแหลมฉบังชดเชยค่ายกขนตู้สินค้าให้แก่เอกชนผู้ประกอบการนำเข้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยจ่ายส่วนลดคืนในอัตรา 1,000 บาทต่อทีอียู เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2564 รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเป็นเงิน 384 ล้านบาท รวม 2 รายการเป็นเงินทั้งสิ้น 389.28 ล้านบาท โดย ครม. มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินความคุ้มค่าในการดำเนินการและประโยชน์ที่ผู้ประกอบการส่งออกรายย่อยได้รับ รวมทั้งให้หาข้อยุติเกี่ยวกับแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมรายงานว่า ประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เปล่าเพื่อใช้ในการส่งออก และอัตราค่าระวางเรือปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ปี 2563 ส่งผลกระทบให้ผู้ส่งออกที่ต้องการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ต้องจ่ายเงินค่าระวางในอัตราที่สูงกว่าปกติ กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ โดยเฉพาะการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับบรรจุสินค้าในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 การท่าเรือแห่งประเทศไทยจึงเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาให้ทางกระทรวงคมนาคมพิจารณา