รีเซต

14 วันเสร็จ! บ้านเดี่ยวหลายห้องนอน 'พิมพ์ 3 มิติ' ผุดในชนบทจีน

14 วันเสร็จ! บ้านเดี่ยวหลายห้องนอน 'พิมพ์ 3 มิติ' ผุดในชนบทจีน
Xinhua
25 พฤศจิกายน 2564 ( 12:10 )
53
14 วันเสร็จ! บ้านเดี่ยวหลายห้องนอน 'พิมพ์ 3 มิติ' ผุดในชนบทจีน

 

สือเจียจวง, 24 พ.ย. (ซินหัว) -- ความพิเศษของบ้านชนบทหลังหนึ่งในมณฑลเหอเป่ยทางตอนเหนือของจีนกลายเป็นกระแสเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากตัวบ้านไม่ได้สร้างขึ้นด้วยอิฐทีละก้อน แต่มาจากการ "สแกน" ผ่านเครื่องพิมพ์ 3 มิติขนาดยักษ์

บ้านหลังดังกล่าวเป็นของจ้าวซิ่วเจวียน ตั้งอยู่ในหมู่บ้านอู่เจียจวง นครจางเจียโข่ว ซึ่งเป็นเมืองเจ้าภาพร่วมจัดการแข่งขันกีฬาปักกิ่ง โอลิมปิก ฤดูหนาว 2022 บ้านของจ้าวครอบคลุมพื้นที่ 106 ตารางเมตร มี 3 ห้องนอน 1 ห้องครัว และ 1 ห้องน้ำ โครงสร้างเพดานมีลักษณะโค้ง ขณะผนังด้านนอกตกแต่งด้วยลวดลายถักทอ

ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านในอู่เจียจวงต่างรู้สึกเป็นกังวลยามที่สวีเว่ยกั๋ว ศาสตราจารย์คณะสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยชิงหัว เสนอให้สร้างบ้านไร่จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ "เราจะ 'พิมพ์' บ้านหลังใหญ่ออกมาได้ยังไง" "มันจะแข็งแรงพอไหม" เพื่อนร่วมหมู่บ้านของจ้าวเต็มไปด้วยข้อสงสัย แต่จ้าวก็ยังคงตัดสินใจขอให้สวีและทีมงานสร้างบ้านหลังเก่าของเธอขึ้นใหม่ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว

แขนหุ่นยนต์สำหรับภารกิจดังกล่าวสร้างวัสดุคอนกรีตขึ้นทีละชั้นเพื่อก่อฐานรากและผนังในจุดก่อสร้าง ก่อนใช้แม่แรงติดตั้งหลังคาที่แยกพิมพ์จนเสร็จแล้วลงไปบนผนัง โดยขั้นตอนการสร้างทั้งหมดนี้จะเสร็จสมบูรณ์ภายในสองสัปดาห์

หลังการสร้างบ้าน 3 มิติหลังแรกประสบความสำเร็จ ชาวบ้านจึงไม่รู้สึกกังวลอีกต่อไป "เครื่องพิมพ์ 3 มิติยักษ์ใช้แรงงานแค่สองคน พวกเขากดปุ่ม แล้วบ้านก็ถูกสร้างขึ้นเลย มันน่าทึ่งมาก" คำบอกเล่าจากชาวบ้านรายหนึ่ง

ตลาดการพิมพ์ 3 มิติของจีนเติบโตอย่างรวดเร็วตลอดไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในแวดวงการบินและอวกาศ การก่อสร้าง รถยนต์ การขนส่ง และสาขาอื่นๆ นอกจากนั้นคณะผู้เชี่ยวชาญยังพยายามยกระดับการพิมพ์ 3 มิติขึ้นอีกขั้น ด้วยการสร้างบ้านพิมพ์ 3 มิติในหมู่บ้านแห่งต่างๆ เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมการใช้ชีวิตในชนบท

สวีกล่าวว่าเทคโนโลยีข้างต้นช่วยประหยัดกำลังคนและต้นทุนก่อสร้าง เพิ่มพูนประสิทธิภาพและคุณภาพ อีกทั้งสามารถรักษาแนวทางการออกแบบและก่อสร้างบ้านแบบดั้งเดิมเอาไว้

ก่อนโครงการบ้านไร่เทคนิคพิมพ์ 3 มิติจะเริ่มเป็นรูปร่าง สวีและทีมงานเคยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติเพื่อสร้างโครงสร้างอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น สะพานคนเดินยาว 26.3 เมตรในเซี่ยงไฮ้

ทั้งนี้ จีนทุ่มเทความพยายามต่อเนื่องในด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี เพื่อเปลี่ยนแปลงและยกระดับภาคการก่อสร้างแบบดั้งเดิม โดยหน่วยงานกลาง 13 แห่งเผยแพร่แนวปฏิบัติเมื่อเดือนกรกฎาคม 2020 เพื่อขอให้มีการบูรณาการเทคโนโลยีก่อสร้างอัจฉริยะเข้ากับห่วงโซ่อุตสาหกรรมทั้งหมด พร้อมกำหนดเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวสำหรับการพัฒนาคุณภาพสูงของอุตสาหกรรมนี้

สวีกล่าวทิ้งท้ายว่า "จีนยังสามารถสร้างบ้านและโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากได้ในอนาคต เทคโนโลยีอัจฉริยะจะสามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานที่อุตสาหกรรมก่อสร้างต้องเผชิญ และช่วยปลดเปลื้องภาระงานอันหนักหน่วงของเหล่าแรงงาน"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง