น้ำตาริน! พัทลุงข้าวสุกเต็มท้องนา ถูกกดราคา-โรงสีไม่รับซื้อ วอนจนท.เร่งช่วยเหลือ
เมื่อวันที่ 30 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลาหมู่บ้าน หมู่ที่ 5 บ้านศาลาเณร ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง กลุ่มเกษตรกรชาวนาในพื้นที่ หมู่ 1 หมู่ 5 หมู่ 7 ตำบลมะกอกเหนือ รวมตัวกันร้องเรียนไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความช่วยเหลือหลังข้าวสุกเต็มท้องนา รอการเก็บเกี่ยว แต่กลับถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง แถมโรงสีในพื้นที่ก็ไม่รับซื้อ บางรายจำยอมตัดข้าวทั้งน้ำตา เพราะหากรอเวลาไปอีกจะทำให้ข้าวเสียหายขายได้เงินน้อยลงไม่เพียงพอกับค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าเมล็ดพันธ์ ที่ถึงเวลาต้องจ่าย
นายอนันต์ มณีประสิทธิ์ กำนันตำบลมะกอกเหนือ กล่าวว่า พื้นที่นาข้าว ของตำบลมะกอกเหนือ มีประมาณ 7,000 ไร่ และในพื้นที่ 3 หมู่บ้านที่ได้รับความเดือดร้อนข้าวสุกเต็มที่รอการเก็บเกี่ยว จำนวน 3,000 ไร่ ซึ่งเกษตรกรชาวบ้านกว่า 200 ราย ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากขายข้าวไม่ได้ โรงสีไม่รับซื้อ ส่วนพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อ ก็ซื้อในราคาที่ต่ำชาวนาแทบจะไม่มีกำไร แถมต่ำกว่าราคาข้าวในฤดูกาลที่ผ่านมามาก โดยข้าวสังข์หยด ฤดูกาลที่ผ่านมาซื้อในราคา 17,000 บาทต่อเกวียน ตอนนี้เหลือเพียงแค่ 8,500 บาทข้าวหอมประทุม อยู่ที่ 9,500 บาท เหลือ ที่ 8,000 บาทโดยเฉพาะข้าวไรส์เบอร์รี่ที่ประชาชนปลูกกันมากที่สุดในตอนนี้เนื่องจากปีที่แล้วมีราคาสูงถึง 15,000 บาท ต่อเกวียน แต่ปีนี้เหลือแค่ 8,000 บาท แถมโรงสีในพื้นที่ไม่รับซื้ออีก
ซ้ำหนักในปีนี้ เกษตรกรชาวบ้านในพื้นที่ต้องเจอกับโรคระบาด และสภาพฝนที่ตกซุก ทำให้ผลผลิตต่อไร่ ลดลงเกือบครึ่งเลยทีเดียว
ด้านนางวิไล หนูเกลี้ยง อายุ 55 ปี ชาวนาในพื้นที่ หมู่ 5 ตำบลมะกอกเหนือ บอกว่า ครอบครัวตนมีอาชีพหลักคือทำนา โดยปลูกข้าวหอมประทุมและข้าวไรส์เบอร์รี่ ในพื้นที่ 25 ปี ข้าวในแปลงนาสุกรอการเก็บเกี่ยวทั้ง 25 ไร่ ปีนี้เดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากราคาข้าวตกต่ำ แถมโรงสีไม่รับซื้อ ที่ซื้อก็ซื้อในราคาที่ต่ำมาก แต่ตนก็ต้องจำยอมตัดข้าวไปส่วนหนึ่งเพราะถึงเวลาต้องจ่าย ทั้งค่าปุ๋ยค่าพันธ์ข้าว ค่ายารักษาโรค เมื่อบวกลบคูณหารกันแล้ว ก็มีเงินเหลือเพียงเล็กน้อย ใช้ได้เพียงแต่ค่าใช้จ่ายในครอบครัว แต่ความหวังที่จะเอาเงินขายข้าวไปจ่ายหนี้ที่เป็นก้อน เช่นหนี้ ธกส.ปีนี้ไม่มีความหวังเลย
กลุ่มเกษตรกรจึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีอำนาจ เร่งเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วนโดยการเข้าเจรจากับผู้ประกอบการในพื้นที่ หรือให้หาตลาดหรือโรงสีเข้ามารับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในราคาที่เป็นธรรม