เมื่อ‘ซูซูกิ XL7’ขึ้นจ่าฝูง มินิ เอ็มพีวี ครอสโอเวอร์
เมื่อตอนเปิดตัว ซูซูกิ เอ็กซ์แอล เซเว่น (ALL NEW SUZUKI XL7) ประมาณเดือนกรกฎาคม 2563 เคยนำเสนอเกี่ยวกับการพัฒนายนตรกรรม ต่อยอดความสำเร็จ ในฐานะรถครอสโอเวอร์ ในรูปแบบ มินิ เอ็ม
พีวี ครอสโอเวอร์ หรือรถยนต์อเนกประสงค์ที่สามารถใช้งานได้หลากหลาย มาแล้วครั้งหนึ่ง
ปรากฏว่า เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 10 เดือน จนถึงขณะนี้ ใครจะเชื่อว่า ซูซูกิ เอ็กซ์แอล 7 สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรถยนต์ในตลาดกลุ่มนี้ ด้วยยอดขาย 3 เดือนแรกของปีนี้ ทำยอดขายไปได้ 981 คัน ตามมาด้วย มิตซูบิชิ เอ็กซ์เพนเดอร์ คู่แข่งคนสำคัญตามมาด้วยตัวเลข 939 คัน และต่อท้ายด้วย ฮอนด้า บีอาร์วี
เมื่อเทียบฟอร์มกันดูแล้ว แต่ละรายล้วนแล้วแต่ไม่ธรรมดา ค่ายฮอนด้านั้นไม่ต้องพูดถึง เก่งเรื่องการทำรถอเนกประสงค์อยู่แล้ว ส่วน มิตซูบิชิ เอ็กซ์เพนเดอร์ นั้นได้ความหวือหวา แต่ถ้า เอ็กซ์แอล 7 จะออกมาแนว เหมาะกับการใช้งาน แม้ว่าหน้าตาจะไม่ได้โดดเด่นอะไร
คำถามคือเป็นไปได้ยังไง ก็ลองย้อนไปดูสเปก เอ็กซ์แอล 7 รถยนต์ครอสโอเวอร์รุ่นล่าสุดนี้ ดีไซน์ภายนอกตัวรถดูใหญ่ กระจังหน้าดีไซน์สีดำผสมโครเมียม ดูดุดัน ไฟหน้า แอลอีดี ปรับระดับองศาของไฟต่ำได้ พร้อม เดย์ไทม์ รันนิ่ง ไลท์ ไฟตัดหมอกหน้า กันชนแต่งด้วยวัสดุสีเงินรอบคัน ซุ้มล้อสีดำพร้อมล้ออะลูมิเนียมอัลลอยแบบทูโทนขนาด 16 นิ้ว ติดราวหลังคาเพื่อการบรรทุกสัมภาระ ไฟท้าย แอลอีดี พร้อมกับไฟเบรกแนวตั้ง (Light guides)
ดีไซน์ภายในคอนโซลหน้า วัสดุลาย คาร์บอน ไฟเบอร์ พร้อมคิ้วโครเมียม อุปกรณ์อำนวยความสะดวก อาทิ มาตรวัดพร้อมจอ แอลซีดี แสดงผลแจ้งสถานะข้อมูลสำคัญของตัวรถ เช่น ไดรฟ์วิ่ง จี-ฟอร์ซ (Driving G-Force) อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง อัตราแรงบิด กำลังของเครื่องยนต์ และข้อมูลอื่นๆ
หน้าจอสัมผัสขนาด 10 นิ้ว มาพร้อมระบบปรับแต่งเสียงและประมวลผลในแบบดิจิทัล (Digital Sound Processor) พร้อมฟังก์ชั่นเชื่อมต่อบลูทูธ การเชื่อมต่อสมาร์ทโฟน รวมไปถึงช่องเชื่อมต่อ USB และ HDMI บริเวณคอนโซลหน้า มีช่องจ่ายไฟสำรอง 12V 3 ตำแหน่ง
ระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติ บริเวณห้องโดยสารด้านหน้า ระบบปรับอากาศด้านหลังสำหรับที่นั่งแถวสองและแถวสาม มีช่อง
เครื่องดื่ม 8 ตำแหน่ง พร้อมช่องเป่าลมเย็นบริเวณคอนโซลกลางเพื่อช่วยรักษาอุณหภูมิเครื่องดื่ม
ห้องโดยสารกว้างขวาง ที่นั่ง 3 แถว 7 ที่นั่ง เบาะนั่งแถวที่สองปรับพับแยกเบาะแบบ 60:40 เลื่อนสไลด์ได้ 240 มิลลิเมตร เพื่อการเข้าออกแถวที่สามได้สะดวก เบาะนั่งแถวที่สามปรับพับแยกเบาะแบบ 50:50 ปรับพับเบาะนั่งได้หลายรูปแบบ
พวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่นทรง ดี-เชพ (D-Shape) จับกระชับเวลาเลี้ยว และทำให้มีพื้นที่เพิ่มระหว่างเบาะกับพวงมาลัย เพื่อช่วยให้การเข้าออกที่นั่งสะดวกขึ้น พวงมาลัยปรับระดับสูงต่ำได้ พร้อมปุ่มควบคุมเครื่องเสียง และการสั่งการสมาร์ทโฟนบนพวงมาลัย
สตาร์ตและดับเครื่องยนต์ได้ง่ายๆ ด้วยปุ่มเดียวกับระบบ คีย์เลส พุช สตาร์ต (Keyless Push Start) และระบบ คีย์เลส เอนทรี่ (Keyless Entry) ประตูเปิด-ปิดได้โดยไม่ต้องกดกุญแจรีโมต กระจกมองข้างทำงานด้วยระบบไฟฟ้า
มิติรถขนาดใหญ่ มีความยาว 4,450 มิลลิเมตร กว้าง 1,775 มิลลิเมตร และสูง 1,710 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถึงตัวรถ 200 มิลลิเมตร
เครื่องยนต์ K15B ขนาด 1.5 ลิตร กำลังสูงสุด 105 แรงม้า/6,000 รอบต่อนาที แรงบิดที่ 138 นิวตันเมตรที่ 4,400 รอบต่อนาที พร้อมเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด แพลตฟอร์มฮาร์ทเทค เทคโนโลยีอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของซูซูกิ
ระบบช่วงล่างปรับแต่งให้นุ่มนวล มีเหล็กกันโคลงด้านหน้า (Front Stabilizer) ขนาดใหญ่เพื่อลดอาการโคลงของตัวรถและเพิ่มการยึดเกาะถนน
ระบบความปลอดภัย ระบบถุงลมนิรภัย SRS คู่หน้า ระบบเบรก ABS ช่วยป้องกันล้อล็อกขณะเบรกกะทันหัน ระบบ EBD ช่วยกระจายแรงเบรก เสริมด้วยระบบควบคุมเสถียรภาพในการทรงตัว ESP และการปรับแต่งโมดูลในพวงมาลัย ช่วยให้เข้าโค้งได้แม่นขึ้น รวมทั้งระบบช่วยการออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน (Hill Hold Control) จุดยึดเบาะสำหรับเด็ก ไอโซฟิกซ์และ ท็อป เทเทอร์ กล้องมองภาพพร้อมเซ็นเซอร์กะระยะขณะถอยหลัง ระบบกุญแจนิรภัย อิมโมบิไลเซอร์
มีให้เลือกทั้งหมด 4 สี ได้แก่ สีส้ม Rising Orange Pearl Metallic,สีเทา Metallic Magma Gray,สีขาว Pearl Snow White และสีดำ Cool Black Metallic ราคา 779,000 บาท สีขาวเพิ่ม 5,000 บาท
จากการสำรวจของทางซูซูกิ พบว่าลูกค้าสนใจ XL7 เพราะตอบโจทย์การใช้งานทั้งในเมืองและนอกเมือง ส่วนใหญ่เป็นกลู่มลูกค้าครอบครัวรุ่นใหม่ มีลูกหรือยังไม่มีลูก อายุ 30 ปีขึ้นไป ชอบความท้าทาย ทำกิจกรรมวันหยุดในที่โล่ง เช่น ไปต่างจังหวัด และชอบขนสัมภาระและอุปกรณ์ต่างๆ ไปด้วย
ดังนั้น คงไม่น่าแปลกใจ เพราะอะไร เอ็กซ์แอล7 ถึงขึ้นนำกลุ่มรถประ
เภทนี้ เพราะมีสิ่งที่รถอเนกประสงค์สไตล์นี้พึงมีค่อนข้างครบ แต่จะให้จบตรงนี้ คงไม่มีวัน เพราะเชื่อว่าคู่แข่งคงไม่ยอมอ่อนข้อ คงต้องหาทีเด็ดมาสู้ แต่ที่รู้ก็คือ ประโยชน์จะเกิดกับผู้บริโภค เมื่อเกิดการแข่งขันกันขึ้น
นายพล