เปิดข้อมูลเหตุใด “ผู้สูงอายุ”ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19
จากสถานการณ์โควิดของประเทศไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และกับเทศกาลสงกรานต์ที่ใกล้จะถึงนี้ การเดินทางกลับบ้าน หากไม่มีการป้องกัน ก็จะทำให้แนวโน้มของติดเชื้อเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุแม้ว่ามีการติดเชื้อน้อยกว่ากลุ่มวัยอื่น แต่มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าหลายเท่า
กรมควบคุมโรค วิเคราะห์ว่าผู้สูงอายุที่เสียชีวิตจากการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในระลอกนี้ เมื่อเทียบกับการรับวัคซีนโควิด 19 ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-28 กุมภาพันธ์ 2565 พบว่าผู้ เสียชีวิต ร้อยละ 75 เป็นผู้สูงอายุ (มากกว่า 60 ปี) โดยผู้สูงอายุที่ฉีดวัคซีนครบ 3 เข็ม ลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 41 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่รับวัคซีน และผู้สูงอายุที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม จะลดการเสียชีวิตได้ 6 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ไม่ได้รับวัคซีน และผู้สูงอายุที่ฉีดวัคซีนครบ 3 เข็ม จะลดอัตราการเสียชีวิตลง 7 เท่า เมื่อเทียบกับฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม
นอกจากนี้ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยระหว่างการแถลงข่าว ประเด็น : “ผู้สูงอายุฉีดวัคซีนก่อนสงกรานต์ ลูกหลานกลับบ้านสบายใจ" ว่า ข้อมูลการเฝ้าระวังระลอกมกราคม จนถึงวันที่ 4 มี.ค.2565 ขณะนี้เป็นโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเกือบทั้งหมด ไทยค่าเฉลี่ย 14 วันอยู่ที่ประมาณ 2.2 หมื่นราย
แม้โอมิครอน ความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา แต่ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ป่วยที่ปอดอักเสบต้องนอนรักษาในรพ. เพิ่มขึ้นด้วย เช่นเดียวกับผู้เสียชีวิตที่ขยับเพิ่มขึ้น แม้อัตราป่วยหนักและเสียชีวิตจะน้อยกว่าปีที่แล้วที่พบสายพันธุ์เดลตา แต่ด้วยยังมีผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยงที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนจำนวนหนึ่ง ทำให้สถานการณ์มีการเพิ่มขึ้นของผู้เสียชีวิตอยู่
"ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป หากติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตเกือบ 3% ถ้าอายุ 60-69 มีโอกาสเสียชีวิต 0.6% รองลงมาอายุ 50-59 ปี กลุ่มนี้มีโรคประจำตัวแล้ว และมีโอกาสเสียชีวิต 0.2% สรุปคือ ผู้สูงอายุติดเชื้อน้อยกว่าวัยอื่น แต่เสียชีวิตมากกว่าวัยอื่นหลายเท่า" นพ.โสภณ กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ในช่วง มกราคม- 4 มีนาคม มีรายงานผู้เสียชีวิต 54 ราย โดย 80% เป็นอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 15% อายุน้อยกว่า 60 ปีแต่มีโรคเรื้อรัง รวมแล้ว 95% อย่างไรก็ตาม ผู้เสียชีวิตเกือบครึ่งหนึ่งไม่ได้รับวัคซีนคิดเป็น 48% หรือได้รับไม่ครบรับเพียง 1 เข็มคิดเป็น13% บางคนรับเข็ม 2 มาแต่เกิน 3 เดือน 31% บางคนรับเข็ม 2 แต่ไม่เกิน 3 เดือนคิดเป็น 6% ที่เหลือมีอีก 2% ได้รับ 3 เข็ม แน่นอนว่า วัคซีนไม่สามารถป้องกันการเสียชีวิต 100% แต่ก็ลดโอกาสการเสียชีวิตลงได้เป็นจำนวนมาก ผู้สูงอายุจึงควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว
วัคซีนโควิด-19สามารถฉีดได้ในผู้ที่อายุเท่าได เพราะอะไร
รายงานการฉีดในผู้สูงอายุในอเมริกา 14 ธ.ค.63-10 เม.ย.64 มีผู้สูงอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป ไก้รับการฉีดวัคซีนโควิดอย่างน้อย 1 เข็ม ประมาณ 17.7 ล้านคน และในอังกฤษ มีการศึกษาถึงการใช้วัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 90 ปี (ถึงแม้ร้อยละของผู้สูงอายุที่เกิน 90 ปี ในการวิจัยอาจน้อยกว่ากลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงอายุวัยต้นที่อายุน้อยกว่า 70 ปี)
นอกจากนั้นข้อมูลในประเทศที่มีการรายงานโดยแบ่งกลุ่มผู้ที่มีอายุมากๆ เช่น 80 ปีขึ้นไป มีอยู่ในบางประเทศ ก็พบว่าได้ผลลดโอกาสการติดโควิด-19 ลดการแพร่เชื้อหากเกิดการติดเชื้อ (ข้อมูลยังมีรายงานเฉพาะในวัคซีนบางชนิด) ส่วนข้อมูลที่มีในทุกชนิดของวัคซีนคือ ลดการมีอาการรุนแรงจากการติดเชื้อ ลดโอกาสการเสียชีวิต
เมื่อผู้สูงอายุได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มแรกแล้ว ควรปฏิบัติตัวอย่างไร
ถึงแม้การฉีดวัคซีน จะลดโอกาสการติดโควิด-19 และลดอาการที่รุนแรง และการเสียชีวิต แต่ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อนี้ได้ โดยเฉพาะในสัปดาห์แรกๆ ของการฉีดวัคซีนที่ภูมิคุ้มกันยังค่อยๆ เพิ่มขึ้น ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน จึงยังควรป้องกันการติดโควิด-19 ด้วยวิธีมาตรฐานอื่นๆ ด้วย คือ การสวมใส่หน้ากากอนามัย การรักษาระยะห่างและการล้างมือบ่อยๆ
สิ่งที่ลูกหลานควรปฏิบัติ ในการพาผู้สูงอายุเข้ารับวัคซีนโควิด-19
ผู้สูงอายุ จำนวนมากที่อาจไม่เข้าใจขั้นตอนในการลงทะเบียนจองการฉีดวัคซีน และอาจไม่ได้ติดตามข่าวสาร กังวลเกี่ยวกับอายุที่มากแล้ว โรคประจำตัวและยาที่รับประทานว่าสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีน ลูกหลานจึงมีส่วนช่วยในการให้ข้อมูลเหล่านี้ได้ ในกรณีที่ผู้สูงอายุ (หรือลูกหลาน) ยังมีความไม่มั่นใจมากนัก อาจปรึกษาแพทย์ได้ นากจากนั้นลูกหลานยังสามารถช่วงลงทะเบียนการฉีดและพาผู้สูงอายุไปรับการฉีดวัคซีนตามนัด
ข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค/ศิริราช
ภาพจาก : AFP