รีเซต

ไฮเปอร์ลูปวันเจ๊ง ! ปิดบริษัทและปลดพนักงานทั้งหมด บอกลาวงการขนส่งความเร็วสูง

ไฮเปอร์ลูปวันเจ๊ง ! ปิดบริษัทและปลดพนักงานทั้งหมด บอกลาวงการขนส่งความเร็วสูง
TNN ช่อง16
22 ธันวาคม 2566 ( 11:51 )
85
ไฮเปอร์ลูปวันเจ๊ง ! ปิดบริษัทและปลดพนักงานทั้งหมด บอกลาวงการขนส่งความเร็วสูง

บริษัท ไฮเปอร์ลูป วัน (Hyperloop One) หนึ่งในผู้ที่ผลักดันไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) ระบบขนส่งแบบใหม่ที่เคลมว่ามีความเร็วสูงกว่ารถไฟความเร็วสูง (High-speed train) ยุติกิจการแล้ว หลังเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2014 ที่ผ่านมา


การปิดตัวลงของไฮเปอร์ลูป วัน

สำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) อ้างจากรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ว่าเมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา Hyperloop One บริษัทที่มีสำนักงานใหญ่ในลอสแอนเจลิส (Los Angeles) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ปิดกิจการลง หลังจากที่ไม่สามารถชนะการประมูลกับหน่วยงานใด ๆ เพื่อสร้างไฮเปอร์ลูปได้ ทั้งนี้ ทางบริษัทจะปลดพนักงานที่ยังเหลืออยู่ทั้งหมด โดยกำหนดวันทำงานวันสุดท้ายเป็นวันที่ 31 ธันวาคมนี้ พร้อมกับขายทรัพย์สินของบริษัทให้เสร็จสิ้นต่อไป ทั้งนี้ ทางบริษัท Hyperloop One ไม่ได้ออกมาให้ความเห็นกับ Reuters แต่อย่างใด 


ทั้งนี้ บริษัท Hyperloop One ถือกำเนิดขึ้นมาในปี 2014 พร้อมกับได้รับเงินทุนสนับสนุนมากกว่า 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 15,600 ล้านบาท จากริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson) มหาเศรษฐีชาวอังกฤษเจ้าของกิจการในกลุ่มเวอร์จิ้น (Virgin) และดีพี เวิลด์ (DP World) บริษัทขนส่ง (Shipping) ในประเทสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates: UAE) เพื่อพัฒนาระบบขนส่งมวลชนแบบใหม่ขึ้นมา


ที่มาระบบไฮเปอร์ลูป

ไฮเปอร์ลูป เป็นหลักการสร้างระบบขนส่งที่ให้ห้องโดยสาร (Pod) เคลื่อนตัวไปตามแนวท่อสุญญากาศเพื่อลดแรงต้านอากาศและแรงเสียดทาน และตั้งเป้าเป็นระบบขนส่งมวลชนที่สามารถทำความเร็วสูงสุด 760 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือมากกว่า 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือคิดเป็นการเดินทางระหว่างกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา น้อยกว่า 30 นาที (ในการเปรียบเทียบจากบริษัท Hyperloop One เป็นการเทียบตามระยะเส้นทางรถไฟจากมหานครนิวยอร์ก - กรุงวอชิงตัน ดีซีใน 30 นาที ด้วยไฮเปอร์ลูป) พร้อมกับเปิดตัวต้นแบบโดยสารในปี 2020 ที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับที่ดีมากนัก และได้เปลี่ยนเป็นระบบขนส่งสินค้าแทน แต่สุดท้ายก็ต้องปิดกิจการ


อย่างไรก็ตาม ระบบไฮเปอร์ลูปนั้นมีมานานมากแล้ว แต่ว่าในปี 2013 อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ได้รื้อฟื้นและผลักดันระบบไฮเปอร์ลูปอีกครั้ง พร้อมกับเปิดบริษัทที่ชื่อว่า เดอะ บอร์ริง คอมปานี (The Boring Company) เพื่อขุดอุโมงค์สำหรับระบบไฮเปอร์ลูปในเมืองเวกัส (Vegas) แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นระบบทางด่วนใต้ดินสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเทสลา (Tesla) ที่เรียกว่าเวกัส ลูป (Vegas Loop) แทน ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเป็นสัญญาณว่าไฮเปอร์ลูปอาจยังไม่ใช่คำตอบสำหรับระบบขนส่งมวลชนความเร็วสูงในอนาคต ก็เป็นไปได้


ที่มาข้อมูล ReutersThe Verge

ที่มารูปภาพ Reuters

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง