รีเซต

"หมอยง" เผยอนาคตโควิด-19 หลังจากนี้ แนะเร่งพัฒนายา-วัคซีนโควิดใช้ในประเทศ

"หมอยง" เผยอนาคตโควิด-19 หลังจากนี้ แนะเร่งพัฒนายา-วัคซีนโควิดใช้ในประเทศ
TNN ช่อง16
27 มิถุนายน 2565 ( 17:41 )
120
"หมอยง" เผยอนาคตโควิด-19 หลังจากนี้ แนะเร่งพัฒนายา-วัคซีนโควิดใช้ในประเทศ


วันนี้ (27 มิ.ย.65) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยในงาน บรรยายออนไลน์ "โควิด -19 วัคซีน หลังจากนี้จะทำอย่างไร"

โดย ศ.นพ.ยง ให้ความเห็นว่า โควิด-19 มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในเดือนนี้ ซึ่งเป็นเดือนที่นักเรียนเปิดเทอมแล้ว ทำให้พบผู้ป่วยเด็กเพิ่มขึ้นอย่างมาก และกระจายตัวติดในครอบครัว ดังนั้นอาจจะต้องกลับมาเน้นในเรื่องของการสวมหน้ากากอนามัย ส่วนการตรวจ ATK หากพบติดเชื้อเมื่อรักษาตัวครบ 10 วันไม่ต้องตรวจซ้ำอีก


ศ.นพ.ยง กล่าวถึงกรณีติดเชื้อหลังจากการฉีดวัคซีนไปแล้ว ถือว่าถือเป็นการได้รับวัคซีนเพิ่มตามธรรมชาติ ดังนั้นสำหรับเข็มต่อไปจะต้องเว้นอย่างต่ำ 4-6 เดือน ซึ่งต้องดูตามสถานการณ์ว่า เว้นระยะไว้นาน 4-6 เดือน หรือเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง หรือสถานการณ์ของโรคปรับเปลี่ยน ก็จำเป็นที่จะต้องฉีดเข็มกระตุ้น ซึ่งการติดเชื้อจนหายแล้ว จะสามารถติดซ้ำได้หรือไม่นั้น พบว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่มีโอกาสน้อยมาก 

ขณะที่ กรณีของอาการลองโควิดนั้น จากที่มีการศึกษาพบว่ามีการพบในช่วง 3 เดือนถึง 6 เดือนหลังจากหายแล้ว แต่ถือเป็นอาการที่ตรวจยากมาก โดยมีอาการหลัก คือ เหนื่อยง่าย , อ่อนเพลีย , สมองล้า , หัวตื้อ และหายใจติดขัด ส่วนอาการอื่น ๆ ถือเป็นความรู้สึก เช่น เจ็บหน้าอก ปวดศีรษะ ท้องเสีย จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่ได้รส ซึมเศร้า เครียดกังวล

ส่วนปัจจัยเสี่ยงป่วยหนักนั้น พบว่า ในผู้ที่มีอายุมากพบ ปัจจัยเสี่ยงป่วยหนักมากกว่าและบ่อยกว่าในผู้ที่มีอายุน้อย โดยพบในเพศหญิงมากกว่าชายเล็กน้อย ซึ่งในช่วงของการระบาดของเชื้อไวรัสเดลต้าและโอมิครอนนั้น พบว่า ในสายพันธุ์เดลต้าพบอาการลองโควิดมากกว่าสายพันธ์โอมิครอน ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่า การระบาดในอนาคตข้างหน้า อาการลองโควิดจะเกิดขึ้นลดลง


อย่างไรก็ตาม การพัฒนาบุคลากรหลังโควิด-19 เพื่อรองรับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตนั้น หากจะถอดบทเรียนการระบาดที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยยังต้องการการพัฒนาบุคลากร เพราะปัจจุบันยังคงขาดคนที่มีความสามารถ โดยเฉพาะการพัฒนาวัคซีน ที่จะมาช่วยเหลือผู้คนในประเทศ ซึ่งปัจจุบันตนเองพยายามที่จะพัฒนานักวิทยาศาสตร์วัยเยาวน์ ให้สามารถศึกษาและมีความรู้ในเรื่องของวัคซีนเพิ่มมากขึ้น

ท้ายที่สุดการดูแลป้องกันรักษาจะต้องให้ความสำคัญในกลุ่มเปราะบางและกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะความต้องการในเรื่องของยาต้านไวรัส ซึ่งปัจจุบันมีเพียงยาฝาวิพิราเวีย ซึ่งก็ยังไม่มีการรับรองว่า การใช้ยาฟาวิพิราเวียรักษาแล้วได้ผลร้อยละร้อย

โดยปัจจุบันนี้องค์การอนามัยโลกรับรองยาเพียงแค่ 3 ชนิดคือ Remdesivir , Molnupiravir และ Paxlovid ซึ่งยาทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ล้วนแต่มีราคาสูง เนื่องจากบริษัทยาในต่างประเทศ ยังไม่มีการยินยอมลดราคาในการจำหน่ายให้กับประเทศไทย ดังนั้นหลังจากนี้จึงหนีไม่พ้นในเรื่องของยาต้านไวรัส ที่จะต้องมีการนำเข้ามาต่อจากวัคซีน


ภาพจาก แฟ้มภาพ TNN ONLINE


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง