รีเซต

รู้จัก "ซากเชื้อโควิด" สามารถแพร่เชื้อต่อไปยังคนอื่นได้ไหม?

รู้จัก "ซากเชื้อโควิด" สามารถแพร่เชื้อต่อไปยังคนอื่นได้ไหม?
TNN ช่อง16
28 มีนาคม 2565 ( 18:16 )
184

วันนี้( 28 มี.ค.65) เพจเฟซบุ๊ก กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้เคยโพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับ ซากเชื้อโควิด-19 โดยระบุข้อความว่า 

"ผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่ได้รับการรักษาครบตามระยะเวลาที่กำหนดและหายป่วยแล้ว หากตรวจหาเชื้อด้วยการสวอปทางโพรงจมูก (Nasopharyngeal swab) อาจจะพบเชื้อ SARS-CoV-2 ที่เป็นเชื้อก่อโรคโควิด 19 ได้ แต่เชื้อ ที่พบจะถูกจัดเป็นเชื้อที่ตายแล้ว หรือเป็น “ซากเชื้อ” ที่ไม่สามารถแพร่เชื้อต่อไปยังคนอื่นๆได้อีก งานวิจัยในต่างประเทศพบว่า เมื่อหายป่วยจากโรคโควิด 19 แล้ว เชื้อไวรัสจะยังคงอยู่ในร่างกายได้นานถึง 30 วัน หากมีการตรวจในระยะเวลาดังกล่าวจึงอาจพบซากเชื้อได้

“ซากเชื้อ” คืออะไร? 

ซากเชื้อ คือ จุลชีพที่ถูกร่างกายทำลายจนหมดฤทธิ์แล้ว เมื่อผู้หายป่วยจากโรคโควิด 19 ตรวจเชื้อโดยการหาสารพันธุกรรม บางรายอาจพบสารพันธุกรรมของจุลชีพได้ แต่สารพันธุกรรมของจุลชีพนั้นหากนำมาแยกเพาะเชื้อจะไม่สามารถเพาะเชื้อต่อไปได้ ดังนั้นผู้ที่พบซากเชื้อในร่างกายจึงไม่สามารถแพร่เชื้อต่อไปยังผู้อื่นได้

ผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด 19 แล้ว จะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคต่อไปอีกประมาณ 3-6 เดือน ดังนั้นผู้ที่เคยตรวจพบซากเชื้อโควิด 19 จึงสามารถเป็นโรคโควิด 19 ซ้ำได้จากการติดเชื้อซ้ำใหม่อีกครั้ง หรือติดจากเชื้อกลายพันธุ์ในช่วงที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลงหรือภูมิคุ้มกันไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้

แพทย์จึงไม่แนะนำให้มีการตรวจซ้ำหลังการรักษาครบตามกำหนดเวลาแล้ว นอกจากจะเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายใหม่หลังจากหายป่วยจากโรคโควิด 19 มาระยะหนึ่ง เพราะภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อจากสายพันธุ์อื่นที่ต่างสายพันธุ์กับที่ติดมาก่อนหน้าได้ เพียงแต่อาการที่เกิดขึ้นอีกครั้งจะไม่รุนแรงเช่นเดียวกับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วนั่นเอง

ดังนั้น ผู้ป่วยที่หายแล้วจึงสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันเหมือนคนปกติ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ และอย่าลืมการปฏิบัติตัวตามมาตรฐานวิถีใหม่ D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด

ข้อมูลจาก : นพ.ชาโล สาณศิลปิน นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ กองระบาดวิทยา"





ภาพจาก AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง