รีเซต

นักวิจัยสร้าง "แผนที่ 3 มิติ" ใต้ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลกได้สำเร็จแล้ว !?

นักวิจัยสร้าง "แผนที่ 3 มิติ" ใต้ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลกได้สำเร็จแล้ว !?
TNN ช่อง16
15 มิถุนายน 2566 ( 15:31 )
103
นักวิจัยสร้าง "แผนที่ 3 มิติ" ใต้ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลกได้สำเร็จแล้ว !?



ทีมนักสำรวจแอนตาร์กติกของประเทศอังกฤษ หรือ British Antarctic Survey (BAS) ได้ออกมาประกาศว่าพวกเขาสามารถทำแผนที่ใต้ Doomsday Glacier หรือที่เรียกกันว่า ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลก ซึ่งอยู่ในทวีปแอนตาร์กติกาฝั่งตะวันตกได้สำเร็จ ซึ่งทีมสำรวจกล่าวอ้างว่า นี่คือครั้งแรกที่มีการทำแผนที่ใต้ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลกอีกด้วย !! 


Doomsday Glacier คืออะไร ?


เหตุผลที่ Doomsday Glacier ถูกเรียกว่า ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลก นั่นก็เพราะ มีการคาดการณ์ว่าเมื่อธารน้ำแข็งแห่งนี้ละลายทั้งหมด มันจะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 65 เซนติเมตร หรือประมาณ 25 นิ้ว สูงมากพอที่จะท่วมแผ่นดินหลายแห่งเลยทีเดียว ซึ่งการท่วมสูงของน้ำทะเลนี้ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างแน่นอน


โดย ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลก นี้ มีอีกชื่อนึงว่า Thwaites Glacier (ธารน้ำแข็งทเวตส์) ซึ่งเป็นธารน้ำแข็งที่มีขนาดกว้างและใหญ่มากที่สุดของทวีปแอนตาร์กติก และถือเป็นธารนำแข็งที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีขนาดพื้นที่กว้างกว่า 192,000 ตารางกิโลเมตร เทียบเท่ากับพื้นที่ของประเทศอังกฤษทั้งประเทศ หรือรัฐฟลอริดาของสหรัฐอเมริกาทั้งรัฐ 


ตัวธารน้ำแข็งนี้เป็นส่วนหนึ่งของทะเลอามันด์เซนทางตะวันออกของเขาเมอร์ฟี ส่วนหนึ่งของมหาสมุทรแอนตาร์กติก นอกฝั่งแมรีเบิร์ดแลนด์ ทวีปแอนตาร์กติกาฝั่งตะวันตก




ธารน้ำแข็งนี้เคยถูกนักวิทยาศาสตร์เตือนว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายในปี 2031 เนื่องจากเกิดการละลายเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้ถึง 2 เท่า และในปี 2022 ที่ผ่านมา ทางนักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาระบุว่าในช่วง 2 ศตวรรษ มีการละลายตัวของน้ำแข็งมากกว่า 2.1 กิโลเมตรต่อปี เนื่องจากโดนกระแสน้ำอุ่นกัดเซาะตัวฐานที่อยู่ใต้น้ำ 


การตรวจสอบ "ใต้ธารน้ำแข็ง"


เพื่อศึกษาเกี่ยวกับธารน้ำแข็งนี้มากขึ้น ทางทีมนักสำรวจ BAS จึงได้หาทุกวิถีทางในการดูว่าใต้ธารน้ำแข็งมีอะไรหรือเกิดอะไรขึ้นกับมันมาตลอด ล่าสุดหลังจากลองมาทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะการใช้เรดาร์บนเครื่องบิน ไปจนถึงการใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับคลื่นแรงโน้มถ่วง ทาง BAS ก็สามารถจับเอาหลาย ๆ วิธีมาผสานรวมกันจนสร้างเป็นแผนที่ 3 มิติของตัวธารน้ำแข็งและข้อมูลทางธรณีวิทยาที่อยู่ใต้มันออกมาได้สำเร็จ




สภาพของ "ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลก" ปัจจุบัน


โดยแผนที่ 3 มิติ ชี้ให้เห็นโครงสร้างของธารน้ำแข็งนี้ ว่ามันยึดติดอยู่กับพื้นผิวทางธรณีวิทยาที่ซับซ้อน ซึ่งมีอายุมากกว่า 100 ล้านปี หรือก็คือช่วงเวลาเดียวกับที่นิวซีแลนด์แยกตัวกับแอนตาร์กติกา พื้นดินใต้ธารน้ำแข็งส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยหินแกรนิตและหินอัคนีต่าง ๆ มีตะกอนเกาะเรียงตัวเป็นแอ่ง ซึ่งตะกอนดังกล่าวมีลักษณะเป็นเหมือนโคลนลื่น ๆ ส่งผลให้น้ำแข็งหลุดออกจากธารน้ำแข็งง่ายขึ้น ในยามเจอกับอุณหภูมิสูง 


อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้จากแผนที่ 3 มิติ ยังข้อมูลในเบื้องต้น ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามันส่งผลต่อการละลายของตัวธารนำแข็งหรือไม่ และอยู่ระหว่างช่วงหาคำตอบ ซึ่งหลังจากนี้ทีมนักสำรวจหวังว่าข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้ทีมนักวิจัยตรวจสอบและคาดการณ์การละลายตัวของธารน้ำแข็งนี้ได้แม่นยำขึ้น เนื่องจากมีข้อมูลพื้นฐานในเรื่องโครงสร้างของตัวธารน้ำแข็งมากกว่าเดิม 




แหล่งที่มา newatlas.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง