รีเซต

"CPTPP" กับการเปลี่ยนดุลอำนาจเศรษฐกิจใหม่

"CPTPP"  กับการเปลี่ยนดุลอำนาจเศรษฐกิจใหม่
TNN ช่อง16
9 มิถุนายน 2563 ( 10:09 )
530
"CPTPP"  กับการเปลี่ยนดุลอำนาจเศรษฐกิจใหม่

 

ในเดือนที่ผ่านมา มีการกล่าวถึง CPTPP กันมาก กรมเจรจาการค้า ต่างประเทศฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ควรเข้าเป็นสมาชิกโดยอ้างเอาการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากผลของการเข้าเป็นสมาชิก ผู้คัดค้านอีกฝ่ายหนึ่งแบ่งออกเป็น หลายส่วน บางส่วนเป็นห่วงเรื่องสิทธิพันธุ์พืช  บางส่วนเป็นห่วงเรื่องสิทธิบัตรยา บางส่วนเป็นห่วงเรื่องการถูกฟ้องจากองค์กรธุรกิจต่างประเทศโดยใช้อนุญาโตตุลาการ และ บางส่วนเป็นห่วงเรื่องการควบคุมจำกัดบุหรี่ที่อาจทำไม่ได้เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่าโดยส่วนใหญ่กล่าวถึง CPTPP อย่างผิวเผินโดยที่ไม่ได้ลงในรายละเอียดว่าสิ่งที่อ้างถึงเป็นความจริงเพียงใด  

 

 

การคัดค้าน CPTPP ถึง "จุดพีค" ช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมา เมื่อมีรายงานว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เตรียมหารือเรื่องการเข้าเป็นสมาชิกของความตกลงนี้ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ซึ่งภาคประชาชน นำโดยกลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างหนัก จนในที่สุดนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถอนวาระออกจากการประชุม เขาให้เหตุผลภายหลังว่าเป็นเพราะ อยากให้สังคมได้มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันเสียก่อนหรืออย่างน้อยก็ต้องมีการฟังความเห็นครบถ้วน

 

ต่อมามีกระแสข่าวว่า ครม.จะหารือเรื่องนี้อีกครั้งในวันที่ 19 พ.ค. คราวนี้ภาคประชาชนซึ่งรวมตัวกันเป็น "เครือข่ายต่อต้าน CPTPP" ออกมาคัดค้านเช่นเคย แต่สุดท้ายแล้วเรื่องนี้ก็ไม่ได้อยู่ในวาระการประชุมของ ครม. ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้ผลักดันให้ไทยเข้าร่วมความตกลงนี้ "ลาป่วย"

 

สัปดาห์ต่อมา ความเคลื่อนไหวเรื่อง CPTPP ย้ายจากทำเนียบรัฐบาล ไปอยู่ที่รัฐสภา เมื่อส.ส.พรรคภูมิใจไทยแถลงข่าวการยื่นญัตติด่วนเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบ CPTPP ซึ่งเห็นว่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศไทยในด้านต่าง ๆ เช่น เวชภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ สาธารณสุข อุตสาหกรรม การเกษตร และการจดสิทธิบัตร

 

CPTPP ถูกดันมาแล้วหลายรอบ แต่รอบนี้ดูท่ารัฐบาลจะเอาจริงเอาจัง ไม่เหมือนกับรอบที่ผ่านๆ มา ที่ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ส่งไม้ต่อ ประสานวิปรัฐบาลเสนอสภาฯ เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) ขึ้นมาพิจารณาถกข้อดีและข้อเสีย ปลุกกระแสทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน ออกมาซัดข้อมูลกันต่อเนื่อง

 

แต่ดูท่าแล้ว การมาของ CPTPP รอบนี้มีสัญญาณบางอย่างที่อาจบอกได้ว่า โอกาสที่ไทยจะเข้าร่วมเป็น 1 ในประเทศสมาชิก CPTPP นั้นสูงพอสมควร

 

ทาง SCB Economic Intelligence Center ให้รายละเอียดว่า CPTPP  มีชื่อเต็มว่า Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก โดยเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ

ความตกลงนี้ริเริ่มกันมาตั้งแต่ปี 2006 มีชื่อเดิมว่า TPP (Trans-Pacific Partnership) และมีสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ แต่หลังจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในตอนนั้นถอนตัวออกไปเมื่อต้นปี 2017 ประเทศสมาชิกที่เหลือก็ตัดสินใจเดินหน้าความตกลงต่อโดยใช้ชื่อใหม่ว่า CPTPP ปัจจุบัน สมาชิก CPTPP มีทั้งหมด 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม

 

ข้อแตกต่างระหว่าง CPTPP กับ TPP นั้นอยู่ตรงที่ขนาดของเศรษฐกิจ และการค้าที่เล็กลง แต่มีกฎเกณฑ์ที่ผ่อนคลายมากขึ้น มีรายงานจากธนาคารโลกระบุว่า ขนาดเศรษฐกิจรวมของ CPTPP หลังไม่มีสหรัฐฯ ลดฮวบจาก 38% ของเศรษฐกิจโลก เป็น 13% ส่วนขนาดการค้ารวมลดลงจาก 27% เป็น 15%

 

สำคัญที่สุด คือ สมมติถ้าไทย "เข้าร่วม" จะได้หรือเสียอะไร?

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) สรุปไว้ 3 ประเด็น ดังนี้

 

 

การส่งออก  

CPTPP จะเพิ่มโอกาสการส่งออกของไทยไปยังประเทศสมาชิก CPTPP โดยเฉพาะตลาดแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีด้วย ในปี 2017 มูลค่าส่งออกไทยไปยังกลุ่มประเทศ CPTPP มีสัดส่วน 30% ของการส่งออกทั้งหมดจากไทย และมีอัตราการเติบโต 9% เทียบกับปีก่อนหน้า สำหรับแคนาดากับเม็กซิโกมีสัดส่วนการส่งออกรวมกัน 2% สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปแคนาดา ได้แก่ อาหารทะเลแปรรูป ข้าว และผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนสินค้าหลักที่ส่งออกไปเม็กซิโกคือ รถยนต์และส่วนประกอบ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าในหมวดดังกล่าวมีโอกาสไปได้ดีถ้าไทยเข้าร่วม CPTPP ได้สำเร็จ

 

การลงทุนจากต่างประเทศ 

การเข้าร่วม CPTPP จะช่วยดึงดูดการลงทุนที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศสมาชิก CPTPP ซึ่งหากไทยไม่เข้าร่วม เราอาจจะเสียโอกาสตรงนี้ให้มาเลเซียกับเวียดนามไป

 

ความสามารถทางการแข่งขัน 

CPTPP จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย จากการปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ CPTPP ที่ได้ชื่อว่าเป็นความตกลงทางการค้าคุณภาพสูง ตัวอย่างกฎเกณฑ์ที่ CPTPP สนับสนุน ได้แก่ กฎหมายสิทธิแรงงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การสนับสนุนการแข่งขันอย่างเท่าเทียมระหว่างธุรกิจชาวท้องถิ่นและชาวต่างชาติ เป็นต้น ซึ่งการปฏิรูปกฎหมายเหล่านี้จะเป็นผลบวกกับไทยในระยะยาว

แต่เมื่อมีได้ก็ย่อมมี "เสีย" เช่นกัน!!

 

ข้อแรกคงหนีไม่พ้นความกังวลที่หลายๆ คนกำลังคิดไม่ตก และกลายมาเป็นข้อถกเถียงในวงกว้าง คือ ผลกระทบที่มีต่อ "อุตสาหกรรมการเกษตร" เพราะ CPTPP จะเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกส่งสินค้าเข้ามาแข่งขันในไทยได้มากขึ้น โดยเฉพาะ "ปุ๋ย" ที่บางประเทศถือเป็นสินค้าเกษตรส่งออกหลักเลยทีเดียว และในส่วนนี้ยังมีบทบัญญัติที่เรียกว่า UPOV หรือ "ข้อบัญญัติที่สมาชิกต้องเข้าร่วมในอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่" ที่เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ อีกแล้ว คือ สามารถนำ "พันธุ์พืชไทย" ไปวิจัยและพัฒนา แล้วสามารถจดสิทธิบัตรได้อีกด้วย

แน่นอนว่า กระทบกับเกษตรกรแบบเต็มๆ!!

 

กระทบอย่างไร?

หากเป็นไปตามบทบัญญัติที่ว่านี้ เกษตรกรไทยจะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้ปลูกต่อได้ เพราะหากมีลักษณะที่ไปเหมือนกับที่มีการจดสิทธิบัตรไว้ ถือว่าใช้ไม่ได้!! ดังนั้น เกษตรกรต้องซื้ออย่างเดียว กลายเป็นเพิ่มต้นทุนทางการเกษตรให้สูงขึ้นอีก

 

ต้นทุนเพิ่ม! สินค้าก็ต้องราคาเพิ่ม!

 

และอีกข้อหนึ่ง คือ ผลกระทบต่อ "ธุรกิจบริการ" ที่มีการระบุว่า ประเทศสมาชิก CPTPP สามารถกำหนดหมวดธุรกิจการบริการได้ว่าไม่อยากเปิดเสรีอันไหน ซึ่งส่วนนี้เองที่เป็นปัญหา หมายความว่า หมวดธุรกิจการบริการอื่นๆ ที่ไม่ได้กำหนดไว้จะต้องเปิดให้นักลงทุนต่างชาติทั้งหมด และเมื่อนักลงทุนต่างชาติเข้ามามากๆ ก็อาจทำให้ไทยเสียตลาดท้องถิ่นของตัวเองได้

 

ส่วนข้อโต้แย้งอื่นๆ ที่เป็นข้อกังวล คือ การเข้าร่วม CPTPP ให้สิทธิประโยชน์กับแค่บางกลุ่มเท่านั้น!!

 

ทำไมต้อง CPTPP

เมื่อวันนี้ (5 มิ.ย.) ที่ผ่านมา  น.ส.กัญญภัคให้สัมภาษณ์บีบีซีไทย   ว่า  สรท.ไม่ได้สนับสนุนการเข้าร่วมเจรจาการค้าเฉพาะ CPTPP แต่มองเห็นโอกาสที่จะเปิดตลาดส่งออกจากการเข้าร่วมเจรจากรอบการค้าเสรีทุกกรอบ ไม่ว่าจะเป็นทวิภาคีหรือพหุภาคี ทั้ง FTA กับรายประเทศและกลุ่มประเทศ เช่น FTA กับอียู และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่

 

ซึ่งการที่ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี (จีเอสพี) ทั้งจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ทำให้ไทยต้องจ่ายอัตราภาษีเต็ม อีกทั้งยังไม่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเพราะค่าแรงที่แพง และความสามารถที่จำกัดของแรงงานไทยในด้านดิจิทัล ทำให้เสียเปรียบคู่แข่ง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยข้อตกลงทางการค้าในระดับทวิภาคีและพหุภาคีมาช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้ระบบเศรษฐกิจและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน

 

 

"ตอนนี้เวียดนามกำลังจะแซงหน้าเราแล้ว การเติบโตด้านการส่งออกและเศรษฐกิจของเขาก็โตขึ้น การลงทุนจากต่างประเทศที่เข้าเวียดนามก็มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นเพราะเวียดนามได้รับจีเอสพีแล้ว ยังเป็นเพราะเวียดนามทำสัญญาเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่าง ๆ มากถึง 53 ประเทศ ขณะที่ไทยทำสัญญา FTA กับ 19 ประเทศ"

 

ประเด็นสำคัญในข้อเสนอของ สรท. ที่ให้เข้าร่วมเจรจา CPTPP คือทีมเจรจาคือกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะต้องสงวนสิทธิให้ถอนตัวจากการเจรจาได้หากพบว่ารายละเอียดเงื่อนไขต่าง ๆ ไม่เป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของประเทศ

 

 

"เราไม่ได้บอกว่าเข้าไปแล้วต้องผูกมัดตัวเอง และไม่ใช่ว่าเมื่อไปเจรจาแล้วเราต้องยอมเขาทุกอย่าง ถ้าเรารับเงื่อนไขไม่ได้ ไม่พร้อม เราก็ถอยออกมาเตรียมตัวก่อนได้ เมื่อพร้อมเราอาจจะกลับไปคุยใหม่ หรือไปคุยแบบทวิภาคีก็ได้"

 

ภาครัฐต้องดูแลเรื่องผลกระทบจากข้อตกลงทางการค้า  "ไม่ว่าจะเจรจาในกรอบไหน ภาครัฐควรมีกฎหมายปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน"

 

ที่น่ากลัวไปกว่านั้น สหรัฐฯ อาจกลับเข้ามา   ถึงแม้ว่าขณะนี้สหรัฐฯ ไม่ได้เข้าร่วม CPTPP แต่หากในอนาคตกลับเข้ามา ประเทศที่เป็นภาคีอยู่ก่อนก็อาจจะได้เปรียบเพราะมีส่วนในการเจรจาเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้  ถ้าหากสุดท้ายแล้ว รัฐบาลตัดสินใจไม่เข้าร่วมเจรจา CPTPP สรท.ก็ยังเห็นความจำเป็นที่จะต้องเปิดตลาดต่อไปด้วยการเจรจาการค้าในระดับทวิภาคี

 

ล่าสุด นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บอกว่า  ขณะนี้คณะทำงานซีพีทีพีพี ภายใต้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้รวบรวมผลศึกษาผลกระทบต่อการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) เรียบร้อยแล้ว  และสรุปถึงประเด็นที่กังวลคือ 

 

 

 

การเปิดเสรีสินค้าภายใต้ข้อตกลงซีพีทีพีพี ประเทศสมาชิกต้องยกเลิกภาษี 99% ของรายการสินค้าทั้งหมด  โดยกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการส่งออก เช่น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ยานยนต์ และเครื่องหนังและรองเท้า กลุ่มที่อาจจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้า กาแฟและชา และส่วนประกอบรถยนต์ เป็นต้น และ กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าที่มีเงื่อนไขวัตถุดิบหรือสินค้าของประเทศสมาชิกซีพีทีพีพีสามารถนำวัตถุดิบจากนอกสมาชิกเพื่อได้รับสิทธิทางภาษีได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าหรือวัตถุดิบจากประเทศสมาชิกเท่านั้น

 

และประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งเงื่อนไขภายใต้ซีพีทีพีพีห้ามมีการให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ประกอบการไทยเหนือประเทศอื่น, นอกจากนี้ประเด็นของแรงงานภายใต้ซีพีทีพีพีที่ให้สิทธิแรงงานต่างด้าวจัดตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งผู้ประกอบการมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่กฎหมายไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่รองรับประเด็นเหล่านี้ 

 

และประเด็นสุดท้ายคือเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา ในเรื่องของสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล) และผลประโยชน์ของเกษตรกรจากยูพอฟ 1991 และการพัฒนาพันธุ์พืชของไทย

 

CPTPP เข้าสภาฯ สัปดาห์หน้า

 

นายศุภชัย ใจสมุทร บอกถึงความคืบหน้าเรื่องการเสนอเรื่องการตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลกระทบ CPTPP คาดว่าจะมีการบรรจุเป็นวาระสัปดาห์หน้า ซึ่งนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาลได้ออกมายืนยันแล้วว่าในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 10-11 มิ.ย.นี้ จะมีการพิจารณาเรื่อง CPTPP

 

ท้ายที่สุดแล้ว ไทยอาจกลายเป็นฐานการผลิตใหม่ ซึ่งนับว่าสำคัญมากๆ ในอนาคตมีการคาดการณ์ว่า โควิด-19 อาจทำให้เกิด New Supply Chain ที่อาจย่นระยะใกล้ๆ เพื่อง่ายต่อการผลิต ดังนั้น ประเทศในกลุ่มสมาชิก CPTPP ที่อยู่ภูมิภาคเดียวกัน หรือประเทศที่มีการทำการค้ากับกลุ่มประเทศสมาชิก ก็อาจเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น แต่หากไทยไม่เข้าร่วม CPTPP ก็อาจเสียโอกาสตรงนี้ไปให้กับประเทศเพื่อนใกล้เรือนเคียงอย่าง "เวียดนาม" ได้

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม

รายการ "เศรษฐกิจ Insight" วันอังคารที่ 9 มิถุนายน 2563

https://www.youtube.com/watch?v=fJzKvcmPMTQ&t=6s

 

เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง