รีเซต

หมอนิธิพัฒน์ เผยอาการหลังฉีด "ไฟเซอร์" มาแล้วกว่า 30 ชั่วโมง

หมอนิธิพัฒน์ เผยอาการหลังฉีด "ไฟเซอร์" มาแล้วกว่า 30 ชั่วโมง
TNN ช่อง16
7 สิงหาคม 2564 ( 11:21 )
63
หมอนิธิพัฒน์ เผยอาการหลังฉีด "ไฟเซอร์" มาแล้วกว่า 30 ชั่วโมง

วันนี้( 7 ส.ค.64) รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "มีคนส่งความห่วงใยสุขภาพหลังฉีดวัคซีนเข็มสามของไฟเซอร์มาให้กันในหลายช่องทาง วันนี้ทั้งวันมีแค่อาการตึงต้นแขนข้างที่ฉีดยา ซึ่งไม่พบในการฉีดวัคซีนของซิโนแวคในสองเข็มก่อน 

นี่ก็ผ่านมาแล้วกว่า 30 ชั่วโมง คงจะไม่มีผลข้างเคียงเฉียบพลันอะไรอื่นแล้ว เหลือแต่ผลข้างเคียงระยะยาวที่เป็นผลจากปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อสิ่งแปลกปลอมในวัคซีน 

ซึ่งก็ไม่น่าจะมีอะไรนักเพราะมักพบในคนวัยละอ่อนเสียเป็นส่วนใหญ่ สุดสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้าหน้านักรบเสื้อขาวด่านหน้าคงได้รับการปูพรมฉีดกันเป็นวงกว้าง เรื่อยไปจนถึงสิ้นเดือนนี้ที่จะครอบคลุมเป้าหมายบุคลากรทางการแพทย์ให้ได้เป็นส่วนใหญ่ ส่วนเสียงแสดงความเห็นเปรียบเทียบสัดส่วนวัคซีนที่ได้รับระหว่างจังหวัดและระหว่างโรงพยาบาล กับจำนวนผู้ป่วยโควิดที่ได้รับการดูแลโดยจังหวัดหรือโรงพยาบาลนั้นๆ ว่าบางแห่งบางที่ดูจะไม่ค่อยสมดุลกันนัก สมควรที่ผู้มีอำนาจจัดสรรจะแถลงหลักเกณฑ์ที่ใช้ให้ประชาคมบุคลากรทางการแพทย์รับทราบ เพื่อจะได้เกิดความเชื่อมั่นในการร่วมกันต่อสู้กับเจ้าโควิดตัวร้ายต่อไปอย่างไม่ระย่อ

สำหรับผู้ป่วยในทีมโควิดวิกฤติของเราวันนี้ มีความคืบหน้าไปในทางดีกันเป็นส่วนใหญ่ สุดสัปดาห์นี้น่าจะมีผู้ผ่านพ้นช่วงการใช้เครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งถึงสองราย ส่วนคุณลุงแมวเก้าชีวิตที่ย้ายออกไปได้สามวันแล้ว ท่านก็ค่อยๆ แข็งแรงขึ้นแต่ก็ยังต้องคอยจับตาดูแลใกล้ชิด ระลอกนี้ผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่จะมีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป บางรายป่วยหนักกันทั้งสามีและภรรยา บางรายก็ต้องลาจากไปทั้งคู่หรือแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยที่ไม่มีโอกาสสั่งเสียหรือร่ำลากัน ช่วงบ่ายวันนี้จึงร่วมประชุมออนไลน์กับทีมจิตแพทย์และแพทย์ที่สนใจด้านการดูแลประคับประคองระยะสุดท้ายของชีวิต (palliative care) เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมให้บุคลากรทางการแพทย์ สำหรับการให้การดูแลรักษาตามความเหมาะสมกับต้นทุนสุขภาพเดิมและความรุนแรงของการป่วยจากโควิดในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรสุขภาพที่มีจำกัดอย่างคุ้มค่า และช่วยลดการรักษาที่สิ้นเปลืองไปในการยื้อยุดชีวิต รวมถึงช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตระยะท้ายและเข้าสู่การเสียชีวิตอย่างสงบ

เช่นเคยในยามบ่ายแก่ๆ ของวันศุกร์ ได้เข้าร่วมที่ประชุมเตรียมความพร้อมทางการแพทย์ในเขตกทม.และปริมณฑล ครั้งนี้มีความคืบหน้าไปมากในการจัดเตรียมระบบการดูแลเบ็ดเสร็จที่ประสานทั้ง

ภาครัฐและภาคประชาชนเข้าด้วยกัน แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้ระบบราชการเร่งปรับตัวเตรียมรับสถานการณ์มานานพอควร แต่ก็เป็นธรรมชาติของระบบบูโรแครตที่มักจะตามหลังประชาชนเสมอมา แต่มาช้ายังดีกว่าไม่มาหรือมาแบบเข้าเกียร์ว่าง แผนงานต่างๆ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างและรอบด้านมากขึ้น เริ่มตั้งแต่การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (Emergrncy Operation Center: EOC) ในระดับเขตที่ย่อยลงไปในพื้นที่กทม. เพื่อบูรณาการระบบการดูแลรักษาและควบคุมโรคเหมือนกับระบบเช่นเดียวกันนี้ในต่างจังหวัดที่มีความเข้มแข็ง มีการวางแผนกระจายยาฟาวิพิราเวียร์และยาอื่นพร้อมอุปกรณ์ที่จำเป็นผ่านเครือข่ายโยงใยในแต่ละเขตนี้ รวมถึงระบบการสนับสนุนด้านชีวิตความเป็นอยู่ที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน ที่ขาดไม่ได้คือระบบการดูแลด้านสภาพจิตใจในระบบการแพทย์แผนปัจจุบัน และการเตรียมตัวเผชิญการเจ็บป่วยและการตายอย่างมีสติในแนวทางของพุทธศาสนา ขอให้ทุกฝ่ายละวางความคับข้องหมองใจที่มีต่อกันมาในอดีต แล้วร่วมกันฝ่าฟันไปข้างหน้าเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และต้องมองไกลไปถึงการเตรียมพร้อมของระบบการรองรับสถานการณ์ในต่างจังหวัดที่กำลังเข้มข้นขึ้นทุกขณะ เพื่อไม่ให้ทรัพยากรที่สำคัญถูกดึงมาใช้ในเมืองหลวงจนหัวเมืองเกิดความขาดแคลน  

แม้หลายคนจะท้อแท้สิ้นหวังกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดเข้ามาทุกขณะจิต แต่ตราบใดที่สัญญาณหมดเวลาแข่งยังไม่ดังขึ้น นักกีฬาที่ดีต้องไม่ย่อท้อ ผู้เล่นทุกคนล้วนมีความสำคัญที่จะทำให้ทีมมีโอกาสประสบความสำเร็จ ถึงการลุ้นเพิ่มเติมเหรียญจากกอล์ฟหญิงจะหลุดลอยไปแล้ว แต่ทัพนักกีฬาไทยในโอลิมปิกครั้งนี้ก็ช่วยเติมความสุขในยามยากขณะนี้ให้กับคนไทยได้เป็นอย่างดีแล้ว ด้วยการคว้าหนึ่งเหรียญทองและหนึ่งเหรียญทองแดงกลับมาสู่บ้านเรา"

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง