รีเซต

อนุทิน ยันระบบสาธารณสุขไม่ล่มสลาย ยังบริหารจัดการ 'เตียงผู้ป่วย' ได้ เล็งต่อเวลา 'รพ.บุษราคัม'

อนุทิน ยันระบบสาธารณสุขไม่ล่มสลาย ยังบริหารจัดการ 'เตียงผู้ป่วย' ได้ เล็งต่อเวลา 'รพ.บุษราคัม'
มติชน
24 มิถุนายน 2564 ( 12:00 )
59
อนุทิน ยันระบบสาธารณสุขไม่ล่มสลาย ยังบริหารจัดการ 'เตียงผู้ป่วย' ได้ เล็งต่อเวลา 'รพ.บุษราคัม'

 

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีข้อเสนอให้ล็อกดาวน์กรุงเทพมหานคร(กทม.) เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อเตียงรักษาผู้ป่วยในกทม. ว่า รับฟังทุกอย่างและไปประเมิน โดยเรามีคณะทำงาน คณะกรรมการและมีศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) ซึ่งความเห็นจากอาจารย์แพทย์ทั้งหลายมีคุณค่ามาก เราต้องรับฟัง ไม่ฟังไม่ได้ เราต้องคิดพิจารณาว่าเหมาะสมกับสถานการณ์อย่างไร เพื่อดำเนินการตามความเหมาะสม โดยเมื่อวานนี้ (23มิ.ย.) ตนได้พบกับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็ได้พูดคุยกันว่า เราพร้อมสนับสนุนเกื้อกูลกัน กทม. ก็ดูแลพื้นที่ให้เต็มที่ ขาดเหลืออะไรทาง สธ. ก็พร้อมให้ความสนับสนุน ช่วยกันแก้ไขปัญหา

 

 

 

นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนกรณี รพ.บุษราคัม ที่ สธ. ได้รับความอนุเคราะห์ให้ใช้พื้นที่ได้ถึงเดือนส.ค. เราก็ต้องเตรียมจัดหาที่อื่นเพิ่มเติม ตนรายงานไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เพื่อหาพื้นที่ส่วนราชการที่พร้อมทำเป็นรพ.เช่นเดียวกับ รพ.บุษราคัม ไม่ใช่เพียงพื้นที่ใหญ่ แต่ต้องมีระบบที่สามารถรองรับได้ด้วย อย่างเช่นที่สถานีกลางบางซื่อ เท่าที่ดูมา พบว่าระบบแอร์แบบเซ็นทรัล ไม่มีโซนแยก ดังนั้น ก็ทำไม่ได้ ทาง สธ.จะหารือกับประธานเมืองทองธานีเพื่อขอความอนุเคราะห์ใช้พื้นที่ต่อตามเงื่อนไขต่างๆ อีก 2-3 เดือน

 

 

 

เมื่อถามถึงโรงพยาบาล(รพ.) บางแห่งหยุดรับตรวจหาเชื้อโควิด-19 เนื่องจากไม่มีเตียงรักษาผู้ป่วย นายอนุทิน กล่าวว่า ตนยังไม่ได้รับรายงานในเรื่องนี้ เชื่อว่าทุกอย่างมีเหตุผล แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องไม่กระทบต่อการรักษาพยาบาล ทาง สธ. ก็บริหารจัดการผ่านระบบเขตสุขภาพ เพื่อส่งต่อผู้ป่วยซึ่งกันและกัน ถ้ามองเป็นกระจุก จะเห็นเป็นความแน่นหนา ดูแล้วน่าจะใกล้จุดที่ไม่เพียงพอ แต่ถ้ามองทั้งระบบสาธารณสุข เรายังพอบริหารจัดการได้ จำนวนผู้ป่วยที่หายในวันนี้ วันละ 1,500-1,700 คน ก็เกิดจากการติดเชื้อใน 14 วันย้อนหลัง ดังนั้น ผู้ป่วยใหม่วันนี้ก็จะต้องมองไปใน 2 สัปดาห์หน้า ก็จะเห็นผู้ป่วยหายประมาณ 3-4 พันคนเกิดขึ้น

 

 

 

“ดังนั้นสิ่งที่ สธ. และ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำคือ กดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้ได้ คลัสเตอร์ต่างๆ ก็ต้องขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ทำมาตรการบับเบิ้ลแอนด์ซีล แยกคนติดเชื้อออกมา นำผู้ป่วยเข้ารพ.ตามระดับความรุนแรง ไม่ให้มีการเดินทางไปไหนมาไหน สธ. ทำได้แต่ป้องกัน รักษา ควบคุมโรค แต่ไม่สามารถควบคุมคนได้“ นายอนุทิน กล่าว

 

 

เมื่อถามถึงการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาใน รพ.สนามต่างจังหวัด นายอนุทิน กล่าวว่า ทุกอย่างเตรียมพร้อมไว้หมด ใช้ระบบสาธารณสุขในการควบคุมดูแล กระทรวงสาธารณสุขไม่ยอมให้ระบบสาธารณสุขล่มสลาย ใครก็ตามไม่ควรจะใช้คำนี้ ควรช่วยกันคิดทำอย่างไรให้สถานการณ์ดีขึ้น หากจำเป็นจริงๆ ก็ต้องระดมระบบสาธารณสุขทั้งประเทศ

 

 

“รพ.บุษราคัม เป็นการระดมทรัพกำลังบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศมาทำงาน เป็นการเทคเทิร์นคนละ 1-2 สัปดาห์ ทำให้ทุกคนมีประสบการณ์สามารถรับมือหน้างานใน รพ.สนาม ได้ พยาบาลบางคนนอกจากดูแลคนป่วยแล้ว ยังประกอบเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ได้ด้วย ดังนั้นขอให้มีความมั่นใจ ว่าไม่ไปถึงจุดนั้นแน่นอน” นายอนุทิน กล่าว

 

 

เมื่อถามถึงสถานการณ์โควิด-19 ในต่างจังหวัด นายอนุทิน กล่าวว่า ทุกอย่างอยู่ใต้การกำกับดูแลของสาธารณสุข รพ.แต่ละจังหวัด สามารถหมุนเวียนกันได้ อย่างเช่นปีที่แล้วที่ จ.เชียงใหม่ เปิด รพ.หลัก 2-3 แห่งเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับรพ.ใหญ่ๆ ที่รักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ และมีการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างรพ.

 

 

“ระบบสาธารณสุข อย่าดูที่จุดเดียว เพราะตกใจแน่นอน ตอนนี้น้ำหนักการระบาดอยู่ที่ กทม.และปริมณฑล อีก 2-3 จังหวัดทั่วประเทศ เราพยายามแก้ไขไม่ให้ถึงจุดนั้น พยายามแก้ไขในพื้นที่ปัญหาก่อน” นายอนุทิน กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง