รีเซต

THANI ดีมานด์หนุนสินเชื่อ คุมหนี้เสีย-ปั้นพอร์ตเพิ่ม

THANI ดีมานด์หนุนสินเชื่อ คุมหนี้เสีย-ปั้นพอร์ตเพิ่ม
ทันหุ้น
28 พฤศจิกายน 2565 ( 17:08 )
54
THANI ดีมานด์หนุนสินเชื่อ คุมหนี้เสีย-ปั้นพอร์ตเพิ่ม

THANI คงเป้ายอดปล่อยสินเชื่อใหม่ปี 2565 ที่ 2.7-2.8 หมื่นล้านบาท และพอร์ตคงค้างแตะระดับ 5.3 หมื่นล้านบาท มอง 2 เดือนสุดท้ายปีนี้ยอดสินเชื่อใหม่ไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาทต่อเดือน มั่นใจคุมหนี้เสียต่ำ 4% จาก 9 เดือนแรกที่ทำได้ดี 2.34% มองปี 2566 ยังเป็นปีแห่งความท้าทาย

 

นายโกวิท รุ่งวัฒนโสภณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ THANI เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทยังคงเป้าหมายการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อรวมในปี 2565 ไว้ที่ไม่ระดับน้อยกว่า 53,000 ล้านบาท จากสิ้นไตรมาส 3/2565 ที่มีขนาดพอร์ตอยู่ที่ระดับ 51,629 ล้านบาท และคงเป้าหมายยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ไว้ที่ประมาณ 27,000-28,000 ล้านบาท ซึ่งในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ทำได้แล้วที่ระดับ 21,196 ล้านบาท

 

คุมหนี้เสียต่ำ 4%

 

แม้ว่าในช่วงเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมายอดการปล่อยสินเชื่อใหม่อาจจะมีการชะลอตัวลงไปบ้าง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากฤดูฝนและเหตุการณ์น้ำท่วมที่กินระยะเวลานาน ทำให้ลูกค้าที่จองรถไปก่อนหน้านี้ชะลอการออกรถ แต่ปัจจุบันยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่เริ่มกลับมาใกล้เคียงปกติแล้ว และคาดว่าจะมียอดปล่อยสินเชื่อใหม่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมอยู่ที่เฉลี่ยมากกว่า 2,000 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ ในปี 2565 ยังคงคาดการณ์ว่ายอดจำหน่ายรถบรรทุกจะเติบโตได้ที่ประมาณ 10% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน หรืออยู่ที่ประมาณ 23,000 คัน และคาดว่าในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 25,000 คัน ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันตัวเลขการจดทะเบียนรถบรรทุกยังคงมีการเติบโตที่ค่อนข้างดีอยู่ โดยจากปัจจัยการกลับมาเปิดท่องเที่ยวอีกครั้งทำให้ภาคการอุปโภค-บริโภคขยายตัวเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เข้ามาช่วยหนุน รวมถึงการขนส่งสินค้าข้ามแดนเติบโตดี

 

ส่วนหนี้สงสัยจะสูญ (NPL) ในปีนี้บริษัทจะยังคงความสามารถในการรักษาระดับให้อยู่ที่ไม่เกิน 4% ซึ่งในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ทำได้ค่อนข้างดีที่ 2.34% โดยแม้ว่า Stock รถยึดจะอยู่ที่ระดับสูงกว่า 200 คัน เป็นเพราะอุทกภัยที่ทำให้ลานประมูลไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ แต่ด้วยสถานการณ์ที่คลายตัวแล้วในปัจจุบันทำให้สามารถกลับมาเปิดประมูลระบาย Stock ซึ่งในส่วนที่ถูกตั้งสำรองไปจะรับรู้กลับมาหลังจากที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ให้ลูกค้าใหม่ได้แล้ว ขณะที่ Credit Cost ทั้งปี 2565 บริษัทยังคงเป้าหมายไว้อยู่ที่ต่ำ 1% ซึ่งในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่า 0.83%

 

ด้านปัจจัยต้นทุนที่สูงขึ้นจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนั้น บริษัทได้วางแผนรับมือความเสี่ยงดังกล่าวด้วยการปรับพอร์ตใหม่เพื่อลดต้นทุนทางการเงินและล็อกดอกเบี้ยในระยะยาวให้มากขึ้น โดยการออกบอนด์ระยะยาวในสัดส่วน 60-70% และระยะสั้น 30-40% เพื่อลดความเสี่ยงจากการผันผวนของอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี แม้ว่าในปี 2566 อัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในขาขึ้น แต่ก็มองว่าจะปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่รุนแรงเท่าปีนี้

 

ลุยจำนำทะเบียนรถ

 

ความคืบหน้าในการขยายไลน์การให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถนั้น ปัจจุบันอยู่ในช่วงของการทดลองตลาด โดยที่ผ่านมามีการให้สินเชื่อไปแล้วประมาณ 30-40 ล้านบาท โดยบริษัทจะยังคงมุ่งเน้นการให้บริการกับฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่กว่า 70,000-80,000 ราย ซึ่งหากว่าระบบหลังบ้านแล้วเสร็จก็คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบในปีหน้าเป็นต้นไป อย่างไรก็ดี ระบบหลังบ้านอยู่ระหว่างการพัฒนาแล้วเสร็จไปแล้วกว่า 20%

 

สำหรับปัจจุบันสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อรวมของบริษัทแบ่งออกเป็นสัดส่วนสินเชื่อรถบรรทุก มากกว่า 69% (รถบรรทุกใหม่ 70% และรถบรรทุกมือสอง 30%), รถซุปเปอร์คาร์และรถหรู ประมาณ 24%, รถจักรยานยนต์บิ๊กไบร์ค 2%, แท็กซี่ 1% และสินเชื่อเช่าซื้อประเภทอื่นๆ เช่น รถยนต์ส่วนบุคคล รถกระบะ รถแทร็กเตอร์ รถบัส ราว 4% เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีส่วนสินเชื่อเรือยอร์ช และเจ็ทสกี เข้ามาเพิ่มเติมอีกด้วย หากว่าการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในสินเชื่อส่วนนี้ก็จะได้รับอานิสงส์เช่นเดียวกัน

 

อย่างไรก็ดีในปี 2566 บริษัทวางเป้าหมายยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ไว้ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท เติบโต 12-15% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน และวางเป้าหมายการรักษระดับ NPL ไว้ที่ไม่เกิน 3%

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง