ทำความรู้จัก ‘ดอกลำดวน’ ดอกไม้ประจำชาติกัมพูชา ชนวนดรามา ‘บุพเพสันนิวาส 2’
วันนี้ ( 24 ก.ค. 65) เกิดเป็นกระแสสงครามผ่านโลกโซเชียลไปเมื่อวานที่ผ่านมา จากกรณีดรามา ‘ดอกลำดวน’ หลังจากที่เพจ GDH ได้เผยโปสเตอร์ โฆษณาหนัง ‘บุพเพสันนิวาส 2’ โดยมีดอกลำดวนอยู่ในนั้นด้วย จนทำให้ชาวเน็ตกัมพูชาท่านหนึ่งเข้ามาแสดงความเห็น โดยระบุว่า “ขอบคุณสำหรับการส่งเสริมดอกไม้ประจำชาติกัมพูชา ให้โลกรู้ แต่ครั้งหน้าอย่าลืมให้เครดิตเจ้าของด้วย” จนเกิดประเด็นถกเถียงกันยืดยาวระหว่างคนไทยและคนกัมพูชา เกี่ยวกับประเด็นการแย่งชิงวัฒนธรรมของชาติ
มอง ‘ดอกลำดวน’ ผ่านสายตาชาวกัมพูชา
อย่างไรก็ตามหากมองข้ามดรามาไป ‘ดอกลำดวน’ นับเป็นดอกไม้ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาอย่างยาวนาน และ ประเทศกัมพูชาได้ยกย่องให้ดอกลำดวนเป็นดอกไม้ประจำชาติ ดอกลำดวน หรือ ดอกผการ็อมดวล ในภาษาเขมร พระบาทสมเด็จ พระบรมนาถนโรดม สีหมุนี พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ได้ตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ประจำชาติกัมพูชา ประกาศ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2548 ให้ดอกลำดวนเป็นดอกไม้ประจำชาติของราชอาณาจักรกัมพูชา และเป็น 1 ใน 7 อย่างของสัญลักษณ์ราชอาณาจักรกัมพูชา ทำให้ในหลายพื้นที่ของราชอาณาจักรกัมพูชาได้รับการตั้งชื่อตามดอกไม้ชนิดนี้ เช่น ตำบล Rumdoul และ Ou Rumduol ดังนั้น ผู้คนในประเทศกัมพูชาจึงนิยมปลูกต้นลำดวนไว้ตกแต่งตามบริเวณบ้านเรือน และในสวนสาธารณะ
คนกัมพูชาโบราณนิยมใช้ดอกลำดวนมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสีผึ้งทาริมฝีปากสำหรับผู้หญิง ซึ่งถูกเรียกว่า kramuon rumduol สำหรับลำต้นของลำดวนสามารถนำมาใช้สำหรับเป็นวัสดุในการก่อสร้างบ้านเรือนตลอดจนใช้ประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ และเป็นฟืนได้
ดอกลำดวนนั้นมีกลิ่นหอมหวล นักกวีนิพนธ์ชาวเขมรจึงได้นำดอกลำดวนไปใช้ในการเปรียบเทียบความงดงาม และหอมหวนกับสตรีดังจะเห็นได้จากบทเพลงในหลายบทเพลง อาทิ Rumdul Kraties และ Rumdul Pursat เป็นต้น
นอกจากนี้ ดอกลำดวน ยังเป็นชื่อที่ชาวกัมพูชานำไปตั้งชื่อให้กับพันธุ์ข้าวที่ปลูกกันในประเทศ ชื่อว่า ข้าวหอมพันธุ์ดอกลำดวล และเมื่อการประกวดพันธุ์ข้าวเมื่อปี 2012 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย.ข้าวหอมกัมพูชา พันธุ์ดอกลำดวน คว้ารางวัลที่ 1 ข้าวหอมพื้นเมืองพันธุ์ดอกลำดวน (Rumduon) ซึ่งเป็นข้าวจ้าวเม็ดเล็ก กลิ่นหอมจัด รสนุ่มนวล เมื่อปลูกด้วยวิธีธรรมชาติ ข้าวหอมพื้นเมืองลำดวนได้ชื่อว่าเป็นข้าวคุณภาพดีที่สุดในประเทศกัมพูชา มีราคาแพง และ ยังเคยได้รับรางวัลร่วมกับข้าวหอมมะลิของไทยในเวทีการประชุมข้าวโลก World Rice Conference ประจำปี 2014 และเป็นความหวังใหม่ของวงการตลาดข้าวของกัมพูชาอีกด้วย
คนไทยรู้จัก ‘ดอกลำดวน’ แบบไหน?
สำหรับ ดอกลำดวน หรือ ดอกหอมนวล ตามชื่อเรียกของภาคเหนือ ในวัฒนธรรมของประเทศไทยนั้น เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดของศรีสะเกษ และ มีการจัดงานเทศกาลดอกลำดวนบาน ที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ที่มีต้นลำดวนกว่า 40,000 ต้น ถือว่าเป็นสวนที่มีต้นลำดวนมากที่สุดในโลก
ดอกลำดวนยังเป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อีกทั้งยังเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ เนื่องจากลำดวนเป็นไม้ที่อายุยืน ไม่ทิ้งใบ จึงเขียวชอุ่มให้ร่มเงาตลอดปี ดุจดัง ผู้สูงอายุซึ่งเป็นที่พึ่งให้ความร่มเย็นแก่ลูกหลานเสมอ นอกจากนั้นดอกลำดวนยังมีกลิ่นหอม กลีบดอกแข็งแรง ไม่ร่วงง่าย เปรียบได้กับผู้สูงอายุที่ทรงคุณธรรม ความดีงาม ไว้เป็นแบบอย่างแก่สังคมเสมอมา
นอกจากนี้ขนมของไทย ก็มีชื่อว่า ขนมกลีบลำดวน โดยรูปทรงของขนมจะคล้ายคลึงกันกับรูปทรงของดอกลำดวน ซึ่งขนมกลีบลำดวนนั้น เป็นขนมที่ทำจากแป้งสาลีเคล้าน้ำตาลกับน้ำมัน ปั้นเป็นดอก 3 กลีบ และมีเกสรกลม ๆ ตรงกลางอย่างดอกลำดวน แล้วนำไปอบหรือผิงจนสุก และนำไปอบด้วยควันเทียนหอมเป็นขั้นตอนสุดท้าย ขนมดอกลำดวน หรือ ขนมกลีบดอกลำดวน เป็นขนมที่เป็นมงคล มีความหมายที่ดี ซึ่งหมายถึง ช่วยทำให้ชื่อเสียงขจรขจายไปไกล และยังมีความหมาย สร้างความงดงามให้กับชีวิตคู่ คนเฒ่าคนแก่เลยมักใช้ประกอบพิธีงานแต่งงาน ขณะที่ GDH ได้นำดอกลำดวนมาประกอบอยู่ในโปสเตอร์ภาพยนตร์ บุพเพสันนิวาส 2 โดยให้เป็นสัญลักษณ์‘ความรัก’ ที่ยั่งยืน ระหว่างคู่พระเอก-นางเอกจนกลายเป็นประเด็นดรามาข้ามชาติ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของ ดอกลำดวน
ดอกลำดวนเป็นไม้ยืนต้นออกดอกสีขาวหรือสีเหลืองนวล มีกลิ่นหอม กลีบดอกมี 6 กลีบ เรียงเป็น 2 วง วงนอกมี 3 กลีบ วงใน 3 กลีบ มีลักษณะหนาทึบและแข็ง ซึ่งดอกจะบานเต็มที่ในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี กลิ่นของดอกลำดวนจะหอมมากในเวลาค่ำ มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ พบได้ในประเทศคาบสมุทรอินโดจีน คาบสมุทรมลายู
ข้อมูลจาก : อุทยานหลวงราชพฤกษ์
ภาพจาก : เพจ GDH / AFP