รีเซต

ลดดอกเบี้ยส่งผลดีต่อกลุ่มไฟแนนซ์-อสังหาฯ-โรงไฟฟ้า เงินบาทอ่อนค่าหนุนกลุ่มส่งออก

ลดดอกเบี้ยส่งผลดีต่อกลุ่มไฟแนนซ์-อสังหาฯ-โรงไฟฟ้า เงินบาทอ่อนค่าหนุนกลุ่มส่งออก
ทันหุ้น
17 ตุลาคม 2567 ( 14:51 )
7
ลดดอกเบี้ยส่งผลดีต่อกลุ่มไฟแนนซ์-อสังหาฯ-โรงไฟฟ้า เงินบาทอ่อนค่าหนุนกลุ่มส่งออก

 

#หุ้นเด่น #ทันหุ้น - บทวิเคราะห์ โดย บล.กสิกรไทย

 

กนง.ลดดอกเบี้ย เหนือคาดตลาด

กนง. ลงมติ 5-2 เห็นชอบให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25bps จาก 2.50% เป็น 2.25% ซึ่งเหนือความคาดหมายของบล.กสิกรไทยและตลาดที่มองจะคงอัตราดอกเบี้ย

 

กนง. อธิบายว่าตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระหนี้ภาคครัวเรือน แต่เชื่อว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการปรับลดหนี้ที่ดำเนินอยู่

 

คาดกลุ่ม FIN, UTIL และ PROP จะเป็นผู้ได้ประโยชน์หลักจากดอกเบี้ยที่ลดลง ในขณะที่ ELEC, PERS และ AGRI&FOOD น่าจะได้แรงหนุนจากเงินบาทที่อ่อนค่า

 

Key Highlights

กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25bps เหลือ 2.25%

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลงมติ 5 ต่อ 2 เห็นชอบให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25bps จาก 2.50% เป็น 2.25% การตัดสินใจของ กนง.ในครั้งนี้ถือว่าเหนือความคาดหมายของบล.กสิกรไทยและตลาดที่มองจะคงดอกเบี้ย

 

แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมยังคงใกล้เคียงกับประมาณการ และอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะค่อย ๆ กลับสู่เป้าหมายได้ภายในสิ้นปี 2567 อย่างไรก็ดี คณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่าการปรับลดอัดราดอกเบี้ยจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือน โดยไม่ไปขัดขวางกระบวนการปรับลดอัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ที่กำลังดำเนินอยู่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นการเติบโตของสินเชื่อที่ชะลอตัวลง

 

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจไทยคาดว่า GDP จะขยายตัว 2.7% ในปี 2567 (เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากประมาณการรอบก่อนที่ 2.6%) โดยได้แรงหนุนจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงการส่งออกที่มีการปรับตัวดีขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% ในปี 2567 และ 1.2% ในปี 2568

 

Implication and Recommendation

ผู้ใด้ประโยชน์หลักจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

บล.กสิกรไทยมองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. จะส่งผลบวกต่อกลุ่มการเงิน (MTC, TIDLOR, AEONTS), กลุ่มโรงไฟฟ้า (GPSC) และกลุ่มอสังหาฯ (AP, SIRI) จากต้นทุนทางการเงินที่ลดลง แต่จะส่งผลลบต่อกลุ่ม ธนาคาร (BBL, KTB) จากอัตราส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) ที่ลดลง นอกจากนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. อาจทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ บล.กสิกรไทยประเมินว่าการอ่อนค่าของเงินบาทจะส่งผลบวกสุทธิต่อกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (HANA, KCE, DELTA), กลุ่มผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคล (STGT) และกลุ่มเกษตรและอาหาร (ASIAN, TU)

 

คาดปรับอัตราดอกเบี้ยลงต่อเพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพในการเติบโต

มองไปข้างหน้าเราเห็นโอกาสมากขึ้นที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่อ หลังเห็นธนาคารกลางในภูมิภาค โดยเฉพาะ BOK (ธนาคารกลางเกาหลีใต้) เพิ่งเข้าร่วมวัฏจักรในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 25bps จาก 3.50% เป็น 3.25%โดยเราพบว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. มีความสัมพันธ์สูงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ BOK โดยมีค่าสหสัมพันธ์สูงถึง 85% เมื่อเทียบกับ 51% กับ Fed, 64% ECB และ 68% BNM ดังนั้นเราแนะนำนักลงทุนอาจติดตามความเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ยของ BOK และ BNM ในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี ในการแถลงข่าว ธปท. ส่งสัญญาณว่าอาจใช้แนวทางการรอดูผลของนโยบายที่เพิ่งมีการปรับลดดอกเบี้ยลงก่อนในเดือนธ.ค. ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะมีการปรับลดลงเพิ่มเติมอีกหรือไม่

 

SET index มักให้ผลตอบแทนเป็นบวกหลัง ธปท. ลดดอกเบี้ยลงครั้งแรก

ในช่วง 5รอบการผ่อนคลายนโยบายการเงินของ ธปท. ที่ผ่านมา ได้แก่ เดือนธ.ค. 2544, ม.ค. 2550, ธ.ค. 2551, พ.ย. 2554 และส.ค. 2562 เราพบว่าจากสถิติ SET index ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวกประมาณ 1% ภายใน 1 สัปดาห์ และ 6% ภายใน 1 เดือน หลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในวัฏจักรของ ธปท. นอกจากนี้ 4 ใน 5 รอบดังกล่าวเราพบว่า SET index ให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้ในช่วงเวลา 1 สัปดาห์ไปจนถึง 12 เดือน ยกเว้นในปี2562 ซึ่งไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในเวลาต่อมา

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง