รีเซต

"หุ่นยนต์แมลงสาบ" ช่วยค้นหาผู้รอดชีวิตจากแผ่นดินไหวในเมียนมาร์

"หุ่นยนต์แมลงสาบ" ช่วยค้นหาผู้รอดชีวิตจากแผ่นดินไหวในเมียนมาร์
TNN ช่อง16
11 เมษายน 2568 ( 01:43 )
19

สิงคโปร์นำเสนอเทคโนโลยีล้ำสมัยด้วยการพัฒนาหุ่นยนต์แมลงไซบอร์ก (Cyborg Cockroaches) ช่วยการค้นหาผู้รอดชีวิตในพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึง โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University) ในสิงคโปร์ สามารถมีส่วนในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหวในเมียนมาร์ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2025  

หุ่นยนต์แมลงสาบ (Cyborg Cockroaches) ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยหน่วยงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทีมโฮมของสิงคโปร์ (HTX) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง และคลาส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ โซลูชั่น (Klass Engineering and Solutions) ได้ทำการติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีขนาดเล็กและใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์บนตัวแมลงสาบมาดากัสการ์ ทำให้สามารถเคลื่อนที่ผ่านซากปรักหักพังได้อย่างคล่องตัว อีกทั้งได้รับการติดตั้งกล้องอินฟราเรดและเซ็นเซอร์ ที่ช่วยให้สามารถตรวจจับสัญญาณชีพได้แม้ในสภาพแวดล้อมที่มีความยากลำบาก

การผสมผสานสิ่งมีชีวิตและเทคโนโลยี

การผสมผสานระหว่างสิ่งมีชีวิตและเครื่องจักรในรูปแบบของไซบอร์กไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กลับมีแนวคิดมานานแล้วจนมีการนำเสนอในนิยายวิทยาศาสตร์มา ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นการวิจัยที่มีความสำคัญในวงการวิทยาศาสตร์ โดยนักวิจัยหลายกลุ่มได้ทดลองฝังอิเล็กทรอนิกส์ลงในแมลงชนิดต่างๆ เช่น ผีเสื้อ แมลงปีกแข็ง และแมลงสาบ เพื่อให้สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของพวกมันได้ง่ายขึ้น 

อย่างไรก็ตาม การสร้างไซบอร์กในปริมาณมากสำหรับการใช้งานจริงนั้นยังเป็นเรื่องท้าทาย เนื่องจากต้องใช้ทักษะและเวลามากในการติดตั้งอุปกรณ์ แต่เพื่อแก้ไขปัญหานี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางในสิงคโปร์ได้พัฒนาระบบอัตโนมัติที่สามารถติดตั้งอิเล็กทรอนิกส์บนแมลงสาบมาดากัสการ์ได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้แขนหุ่นยนต์ที่มีกล้องตรวจจับภาพในการฝังอุปกรณ์ต่าง ๆ บนร่างกายสิ่งมีชีวิตนี้ การพัฒนาระบบนี้ช่วยลดเวลาที่ใช้ในการติดตั้งอุปกรณ์จากครึ่งชั่วโมงเหลือเพียง 68 วินาที ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและสามารถนำไปใช้งานได้จริงได้


ขั้นตอนการติดตั้ง

กระบวนการนี้เริ่มต้นด้วยการทำให้แมลงสาบหมดสติ โดยการสัมผัสกับคาร์บอนไดออกไซด์เป็นเวลา 10 นาที จากนั้นจะนำแมลงไปวางบนแพลตฟอร์มที่มีแท่งโลหะกดลงบนเปลือกแข็งของร่างกายเพื่อเปิดเผยเยื่อบาง ๆ ที่อยู่หลังหัว จากนั้นจะใช้ระบบคอมพิวเตอร์ช่วยระบุจุดที่เหมาะสมในการฝังอิเล็กโทรด หรือ ส่วนประกอบที่นำไฟฟ้าใช้ในการเชื่อมต่อกับสารตัวนำไฟฟ้าในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ บนตัวของแมลงสาบ และใช้แขนหุ่นยนต์ที่ถือชุดอุปกรณ์ที่จะติดตั้ง  เพื่อติดตั้งลงในตัวแมลง เมื่อการติดตั้งเสร็จสมบูรณ์ กระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งนาที

นักวิจัยเชื่อว่าหุ่นยนต์แมลงสาบ (Cyborg Cockroaches) อาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการใช้งานในภารกิจค้นหาและกู้ภัย เนื่องจากมีขนาดเล็ก ใช้พลังงานน้อย และสามารถทำงานได้ยาวนานโดยไม่ต้องการอาหารมาก อีกทั้งยังสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี 

หุ่นยนต์แมลงสาบ (Cyborg Cockroaches) เหล่านี้จึงมีศักยภาพในการใช้ในการตรวจสอบพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น โรงงานหรืออาคารที่พังทลาย โดยล่าสุดมีการส่งหุ่นยนต์แมลงไซบอร์กจำนวน 10 ตัวไปยังพื้นที่เกิดเหตุในเมืองเนปยิดอว์และมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมาร์ รวมถึงโรงพยาบาลที่ถล่ม ซึ่งการใช้หุ่นยนต์เหล่านี้ช่วยให้การค้นหาผู้รอดชีวิตในพื้นที่ที่คับแคบและยากต่อการเข้าถึงมีความแม่นยำมากขึ้น แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่พบผู้รอดชีวิตจากการใช้หุ่นยนต์เหล่านี้ แต่หุ่นยนต์ได้มีส่วนสำคัญในการทำการสำรวจพื้นที่อย่างละเอียด ซึ่งทีมค้นหามนุษย์หรือสุนัขอาจเข้าถึงได้ยาก

การใช้งานหุ่นยนต์แมลงสาบ (Cyborg Cockroaches) ในภารกิจนี้ถือเป็นการทดสอบที่สำคัญสำหรับเทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งเดิมทีมีกำหนดการทดสอบในปี 2026 โดยผลลัพธ์จากการปฏิบัติภารกิจครั้งนี้จะเป็นข้อมูลที่มีค่าต่อการพัฒนาหุ่นยนต์กู้ภัยในอนาคต โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานในสภาพแวดล้อมที่ท้าทายและมีข้อจำกัดในการเข้าถึงได้

อนาคต นักวิจัยเชื่อว่าโรงงานผลิตหุ่นยนต์แมลงไซบอร์กอาจกลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสนับสนุนภารกิจค้นหาและกู้ภัย รวมถึงการใช้งานในด้านอื่น ๆ ที่ต้องการความคล่องตัวสูงและความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงาน ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องเกินจริงที่จะจินตนาการถึงการนำแมลงไซบอร์กมาใช้ในภารกิจต่าง ๆ ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งปัจจุบันได้รับการพิสูจน์ระดับนึงแล้วในการนำมาใช้ในการช่วยเหลือเหตุวิกฤษแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ณ ประเทศเมียนมาร์

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง