อนามัยโลกกังวล 'อีโบลา' ระบาดหนักในยูกันดา
กัมปาลา, 28 ต.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันพฤหัสบดี (27 ต.ค.) ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ซึ่งขยายวงกว้างออกมานอกศูนย์กลางการระบาดในพื้นที่ตอนกลางของยูกันดา เป็นเรื่องน่ากังวลและต้องร่วมกันยับยั้ง โดยการควบคุมโรคดังกล่าวในพื้นที่เมืองมีความซับซ้อน และต้องใช้ความพยายามร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
เขตมูเบนเดของยูกันดาตรวจพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลารายแรกเมื่อวันที่ 20 ก.ย. ก่อนจะเกิดการระบาดไปยัง 4 เขตข้างเคียงภายใน 2 สัปดาห์ โดยมีการระบาดต่อไปยังเขตวาคิโซและกรุงกัมปาลา เนื่องด้วยการเดินทางของผู้ป่วยและผู้มีประวัติสัมผัสใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้ยูกันดาตรวจพบผู้ป่วยยืนยันผลสะสม 109 ราย เมื่อนับถึงวันที่ 26 ต.ค. แบ่งเป็นเสียชีวิต 30 ราย รักษาหาย 34 ราย และกำลังรักษาตัว 45 รายทีโดรสระบุว่ายูกันดาเร่งดำเนินการรับมือการระบาดของโรคนี้ผ่านการยกระดับการแกะรอยผู้มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ให้การดูแลรักษาตั้งแต่ระยะแรก และการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การฯ และกลุ่มหุ้นส่วนองค์การฯ พร้อมส่งทีมผู้เชี่ยวชาญไปยังยูกันดาเพิ่มขึ้น ขณะการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมโรค ซึ่งประกอบด้วยการเข้าถึงการดูแลและการรักษาอย่างทันท่วงที การแกะรอยผู้มีประวัติสัมผัสใกล้ชิด การฝังศพอย่างปลอดภัย และการทดลองวัคซีนนอกจากนั้นองค์การฯ ยินดีที่ยูกันดาเริ่มฉีดวัคซีนทดลองป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โดยเมื่อวันพุธ (26 ต.ค.) รูธ อเซง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของยูกันดา ประกาศว่ายูกันดาจะเริ่มฉีดวัคซีนให้ผู้มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย 150 ราย ภายใน 2 สัปดาห์องค์การฯ ยังกระตุ้นบรรดานักวิจัยของยูกันดามีส่วนร่วมในการทดลองวัคซีน เพื่อสร้างศักยภาพการฉีดวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันความร่วมมือและการเตรียมพร้อมของกลุ่มประเทศข้างเคียงเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมโรค ซึ่งทีโดรสทิ้งท้ายว่าการรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลานั้นมีความซับซ้อน ทุกฝ่ายจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งภายใต้การนำของกระทรวงฯ