รีเซต

นักวิเคราะห์เผย ไทยเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืด มอง กนง. ไม่หั่นลดดอกเบี้ยอีก

นักวิเคราะห์เผย ไทยเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืด มอง กนง. ไม่หั่นลดดอกเบี้ยอีก
มติชน
25 สิงหาคม 2564 ( 17:51 )
70
นักวิเคราะห์เผย ไทยเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืด มอง กนง. ไม่หั่นลดดอกเบี้ยอีก

ข่าววันนี้ นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า นับแต่การเกิดวิกฤตโรคโควิด-19 จะนับความเสียหายจากตัวเลขจีดีพีติดลบอย่างเดียวไม่ได้ เพราะยังมีความเสียหายของงบดุลที่ยังไม่ได้มีการคิดคำนวณออกมา เช่น ตามอู่แท็กซี่มีการจอดรถทิ้งไว้ ไม่มีการขับออกมาสร้างรายได้ แต่ยังมีการคิดราคาค่าเสื่อมอยู่ตลอด กิจการร้านค้าปิดไปจำนวนมาก จะกลับมาเปิดใหม่คงเป็นเรื่องยาก ซึ่งอาจจะเป็นความเสียหายที่มากกว่า เมื่อตอนวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ที่ใช้เวลาในการฟื้นเศรษฐกิจ 4 ปี และมีการออกพันธบัตรรัฐบาลมาอุ้มสถาบันการเงิน คิดเป็นความเสียหายถึง 24% ของจีดีพี แต่ตอนนี้ประเทศไทยมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ เพราะตัวเลขทุนสำรองระหว่างประเทศสูงกว่า ตัวเลขการกู้เงินจากต่างประเทศ

 

“สิ่งที่มีความกังวลมากกว่า คือ “ความเสี่ยงภาวะเงินฝืด” ที่จะมาเร็วขึ้น จากภาวะการแพร่ระบาด ถ้าดูโครงสร้างประชากรจะพบว่า กำลังแรงงานมีอายุมากขึ้นแล้ว ความยืดหยุ่นทางการเงินการคลังจะมีน้อยลง เหมือนกับประเทศญี่ปุ่น หนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงขึ้น เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ การผ่อนคลายนโยบายการเงินเริ่มมีข้อจำกัด สะท้อนว่าโครงสร้างของประชากร คนทำงานจะมีน้อยลง คนไม่ทำงานมีมากขึ้น อีกทั้งประเทศไทยยังไม่นับว่าเป็นประเทศที่เจริญแล้วเหมือนญี่ปุ่น”

 

นายกอบสิทธิ์ กล่าวว่า ค่าเงินบาทตอนนี้อ่อนค่าอย่างหวือหวา ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้ส่งออก ถ้าค่าเงินอ่อนอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะสามารถวางแผนการตั้งราคาสินค้าได้ราบรื่นกว่า มองกรอบค่าเงินบาทไว้อยู่ที่ 32-33.50 บาท/ คาดว่าทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังไม่ปรับลดดอกเบี้ย เพราะว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงมาตรการลดเงินนำส่งกองทุน FIDF จนถึงสิ้นปี 2565 เป็นสัญญาณที่ว่า ธปท. ไม่อยากจะให้มีการลดดอกเบี้ยอีก อีกทั้งการลดดอกเบี้ยเป็นวงกว้างไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง