รีเซต

‘ที่นี่คือสุสาน ไม่ใช่สนามเด็กเล่น’ 6,000 ศพ ตราบาปแคนาดาโลกกับเรื่องราวของนักบวชใจบาป-แม่ชีใจร้าย

‘ที่นี่คือสุสาน ไม่ใช่สนามเด็กเล่น’ 6,000 ศพ ตราบาปแคนาดาโลกกับเรื่องราวของนักบวชใจบาป-แม่ชีใจร้าย
TNN World
1 มิถุนายน 2564 ( 09:43 )
523

Editor’s Pick: 6,000 ศพ ตราบาปแคนาดาโลกตะลึง กับเรื่องราวของนักบวชใจบาป-แม่ชีใจร้าย
“รัฐบาลและคริสตจักรของแคนาดาพยายามที่จะลบล้างวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชนชาติที่ยิ่งใหญ่และน่าภาคภูมิใจจำนวนมาก ให้หมดสิ้นไปจากโลกใบนี้” 

 


“มีการเลือกปฏิบัติ, กีดกันและทำร้ายหรือล่วงละเมิดทั้งทางกาย ทางเพศ ทางอารมณ์และจิตใจทุกรูปแบบ” 
สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เด็กชนพื้นเมืองในอดีตต้องเผชิญ กับการกระทำที่ได้ชื่อ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางวัฒนธรรม”

 

 

ศพเด็กหลายร้อย ปลุกตราบาปแคนาดา 


ศพเด็ก 215 คน บางคนอายุเพียง 3 ขวบ ถูกพบฝังอยู่ในพื้นที่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นโรงเรียนกินนอนของชนเผ่าพื้นเมืองขนาดใหญ่ที่สุดของแคนาดา ที่ชื่อว่า “แคมลูปส์ อินเดียน เรซซิเดนเชิล สคูล” (Kamloops Indian Residential School) โรงเรียนประจำสำหรับชาวอินเดียน ในเมืองแคมลูปส์ รัฐบริติช โคลัมเบีย ประเทศแคนาดา 

 


โรงเรียนแห่งนี้ถูกปิดในปี 1978 และเป็นหนึ่งในสถาบันที่พรากเด็กชนเผ่าจากอ้อมกอดของครอบครัวทั่วประเทศ เพื่อมาเรียนรู้อยู่รวมกันในโรงเรียนกินนอนที่ตั้งขึ้นเพื่อจุดประสงค์พิเศษนี้ 

 


โรซาน แคซิมีร์ หัวหน้ากลุ่มชนพื้นเมืองชาติพันธุ์ Tk'emlups te Secwepemc First Nation กล่าวว่า การค้นพบซากศพเด็กเหล่านี้ได้รับการยืนยันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยความช่วยเหลือจากเรดาร์เจาะทะลุพื้นดิน และอาจพบศพจำนวนมากขึ้น เพราะยังมีการตรวจสอบในพื้นที่ต่าง ๆ ของโรงเรียนอยู่

 

แคซิมีร์ เรียกการค้นพบครั้งนี้ว่า “การสูญเสียที่คิดไม่ถึง ที่มีการพูดถึงแต่ไม่เคยมีเอกสารหลักฐานบันทึกที่โรงเรียนแคมลูปส์  อินเดียน เรซซิเดนเชิล สคูล”

 

 

เด็กนับแสนถูกพรากจากอกพ่อแม่ 


นับจากศตวรรษที่ 19 จนถึงทศวรรษที่ 1970 มีเด็กจากชนเผ่าที่เรียกว่า First Nations มากกว่า 150,000 คน ถูกพามาเข้าโรงเรียนคริสเตียน ที่มีบาทหลวงและแม่ชีดูแล โดยรัฐบาลสนับสนุนด้านเงินทุน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กให้หันมาใช้ชีวิตในแบบสังคมคนขาวแคนาดา ละทิ้งประเพณี วัฒนธรรมเดิม ๆ ที่เคยใช้ในชนเผ่าทิ้งไป 

 


เด็กเหล่านี้ ถูกบังคับให้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ และไม่ได้รับอนุญาตให้พูดภาษาพื้นเมือง เด็กหลายคนถูกทุบตี และถูกดุด่า ใช้วาจาจาบจ้วงสารพัด ว่ากันว่ามีเด็กเสียชีวิตถึง 6,000 คน    

 


รัฐบาลแคนาดา กล่าวขอโทษในรัฐสภาเมื่อปี 2008 และยอมรับว่ามีการทารุณกรรมทางกายและล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียนอย่างรุนแรง เด็กนักเรียนจำนวนมากเล่าย้อนถึงการถูกทำร้าย เพียงเพราะพูดภาษาถิ่น เด็ก ๆ ถูกตัดขาดจากพ่อแม่และวัฒนธรรมประเพณีของพวกเขา 

 

 

มลทินทางประวัติศาสตร์แคนาดา


บรรดาผู้นำชนเผ่าพื้นเมือง อ้างว่า มรดกของการล่วงละเมิดและการโดดเดี่ยว เป็นสาเหตุหลักของอัตราการเกิดโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือ alcoholism และการติดยาเสพติดในพื้นที่ชนเผ่า 

 


รายงานเมื่อกว่า 5 ปีก่อนโดยคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดอง (Truth and Reconciliation Commission) ระบุว่า มีเด็กอย่างน้อย 3,200 คน เสียชีวิตจากการถูกทารุณกรรมและการปล่อยปละละเลย และในรายงานยังบอกด้วยว่า มีผู้เสียชีวิตอีกอย่างน้อย 51 คน ที่โรงเรียนแคมลูปส์แห่งเดียวระหว่างปี 1915 และ 1963 

 


ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันคือบาดแผลจากมรดกของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่มีต่อชนพื้นเมือง

 


นี่คือเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เป็นรอยมลทินของประวัติศาสตร์แคนาดา แสดงให้เห็นถึงการเหยียดเชื้อชาติ ไม่ยอมรับในสิ่งที่มีที่เป็น ทั้ง ๆ ที่ มันเป็นความงดงามของวัฒนธรรม จากคนหลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายชนเผ่า แต่รัฐบาลกลับอยากจะกลืนกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองเหล่านี้ โดยให้คริสตจักรออกหน้า ผุดโรงเรียนกินนอนให้บาทหลวง นักบวชและแม่ชี บริหาร พอไม่ได้ดั่งใจ ก็ทรมาน ทำทารุณกรรม ให้อดข้าวอดน้ำจนเด็กเจ็บป่วย ล้มตายกันจำนวนมาก

 

 

ล้างสมองเด็กอย่างเป็นระบบ


โรงเรียน แคมลูปส์ เปิดดำเนินการด้วยการเกณฑ์เด็กจากชนเผ่าเข้ามาล้างสมอง ระหว่างปี 1890 และ 1969 และเมื่อรัฐบาลกลางเข้ายึดกิจการมาจากคริสตจักร และบริหารงานเองเหมือนโรงเรียนทั่วไป จัดการเรียนการสอนเฉพาะกลางวัน จนกระทั่งปิดกิจการไปในปี 1978

 


แคซิมีร์ กล่าวว่า เชื่อว่าจำนวนเด็กที่เสียชีวิต 215 คนนี้ ไม่มีหลักฐานบันทึก แม้ว่า พนักงานเก็บเอกสารสำคัญในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กำลังทำงานกับพิพิธภัณฑ์ Royal British Columbia Museum เพื่อตรวจสอบดูว่า มีการบันทึกเกี่ยวกับกลุ่มผู้เสียชีวิตหรือไม่    
เขาชี้ว่า จะต้องสอบสวนและเดินหน้าค้นหาหลักฐานเกี่ยวกับเด็ก ๆ ที่สูญหายอีกจำนวนมาก พร้อมกับเยียวยาจิตใจของชุมชนชนเผ่า First Nations ที่สูญเสีย ทั่วรัฐบริติช โคลัมเบีย และที่อื่น ๆ ต่อไป

 


คณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองของแคนาดา ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2554 ให้สืบสวนการใช้สิทธิมนุษยชนไปในทางมิชอบ ซึ่งเกิดขึ้นในระบบโรงเรียนกินนอนของชาวอินเดียน ได้เปิดเผยหลักฐานการกระทำทารุณกรรมในโรงเรียนกินนอนของชนพื้นเมืองอินเดียน (Indian Residential Schools) ที่เกิดขึ้นกว่า 100 ปี 

 


โดยระหว่างปีทศวรรษที่ 1880 และ 1990 มีเด็กชาวชนเผ่าพื้นเมือง 150,000 คน ถูกส่งเข้าสู่โรงเรียนกินนอนหลายแห่ง ซึ่งพวกเขาถูกตัดขาดจากภาษาและวัฒนธรรมดั้งเดิมของพวกเขา เด็กจำนวนมากเผชิญชะตากรรมเลวร้าย ถูกละเมิดทั้งทางอารมณ์ ร่างกายและทางเพศ   

 

 

ทำความรู้จักระบบโรงเรียนกินนอนแคนาดา


ก่อนอื่น เราไปรู้จักระบบโรงเรียนกินนอนของแคนาดา (residential school system) คือโรงเรียนสำหรับคนพื้นเมืองในแคนาดา ที่แยกเอาเด็กเหล่านี้ออกมาจากครอบครัว เพราะต้องการเปลี่ยนเด็ก หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คงไม่ต่างจากล้างสมองเด็ก เพราะต้องการให้เด็กหันมาใช้ชีวิตแบบคนขาวและละทิ้งวัฒนธรรมเก่า ๆ ของตัวเอง แต่มันกลับทำไม่สำเร็จ จนก่อให้เกิด “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางวัฒนธรรม” การสอบสวนนาน 6 ปี เกี่ยวกับระบบนี้ พบหลักฐานดังกล่าวในปี 2015

 


เมื่อบังคับ หรือล้างสมองเด็กไม่ได้ ก็มีการทำร้ายร่างกายกันอย่างสยดสยอง การข่มขืน ให้อดอาหารและการทรมานในรูปแบบอื่น ๆ ต่อเด็กจำนวนมากจากเด็กนักเรียน 150,000 คนที่เรียนอยู่ในโรงเรียนกินนอนสำหรับชนเผ่าหลายแห่ง 

 


ที่สำคัญโรงเรียนกินนอน ควบคุมดูแลโดยโบสถ์คริสเตียน แน่นอนต้องมีบาทหลวงและแม่ชีดูแล ในนามของรัฐบาลแคนาดาจากช่วงทศวรรษที่ 1840 ถึง 1990 นั่นก็หมายความว่า ทั้งบาทหลวงและแม่ชี ผู้ที่ดูเป็นพ่อพระ แม่พระ แต่เปลือกนอก แท้จริงแล้วโหดร้ายทารุณกับเด็กชนเผ่า ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม  

 

 

จากนักเรียน สู่ ผู้รอดชีวิต


ประชาชนหลายร้อยคนในกลุ่มอดีตนักเรียนในโรงเรียนกินนอน ซึ่งเรียกกันว่า “ผู้รอดชีวิต” ล้วนแต่สูงวัยกันหมดแล้วในขณะนี้ ทุกคนกำลังรอคอยด้วยความกระตือรือร้น ใจจดใจจ่อสำหรับหลักฐานที่รอมานานของคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดอง ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วประเทศ

 


ขณะนี้ เป็นช่วงเวลาสำคัญของการสอบสวนที่ยืดเยื้อมานาน 7 ปี ผู้รอดชีวิตจำนวนมากต่างรอคอยมานานหลายสิบปีที่จะแบ่งปันเรื่องราวของพวกเขา หลายคนรู้สึกอับอายกับการล่วงละเมิดที่พวกเขาต้องทนมาโดยที่ไม่เคยบอกให้คนอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัว, ไม่ใช่เพื่อน ได้รับรู้ จนกระทั่งคณะกรรมการฯชุดนี้ เข้ามาค้นหาความจริง ซึ่งอย่างน้อย คณะกรรมการฯชุดนี้ก็จะทำให้พวกเขาได้เริ่มรับการเยียวยา  

 


การสอบสวนใช้เวลายาวนานไร้ที่สิ้นสุด ไม่ต่างจากการเดินทางผจญภัยที่ยาวนาน คณะกรรมการ 3 คน เดินทางหลายหมื่นไมล์ ไปยังชุมชนต่าง ๆ หลายร้อยชุมชน แม้จะอยู่ห่างไกลถิ่นทุรกันดาร ชายฝั่งมหาสมุทรอาร์กติก เพื่อรับฟังเรื่องราว หลังเกิดเรื่องการล่วงละเมิดรุนแรง งานของคณะกรรมการฯ ในการพิสูจน์ความจริง เต็มไปด้วยความทรหด หลักฐานที่รวบรวมได้ในขณะนี้ แคนาดากำลังเผชิญกับช่วงเวลาของการชำระสะสาง

 

 


เด็ก 7 ชั่วอายุคน ถูกพรากชีวิตไป


ผลการสอบสวนสร้างความพอใจให้กับกลุ่ม “ผู้รอดชีวิต” อย่างมาก ผู้พิพากษาเมอร์เรย์ ซินแคลร์ ซึ่งระบุว่า ยุคโรงเรียนกินนอน ถือเป็นบท “ที่มืดมนที่สุดและน่ากังวลที่สุด” ในประวัติศาสตร์ของแคนาดา 

 


ผู้พิพากษาเริ่มอ่านผลการสอบสวน ซึ่งมีข้อกล่าวหามากมาย เขากล่าวว่า เด็กถึง 7 เจเนอเรชั่น หรือ 7 ชั่วอายุคน ถูก “พลัดพรากจากความรักของครอบครัว การเคารพตัวเอง และ...อัตลักษณ์ ตลอดเวลา 100 ปี” 

 


ด้วยน้ำเสียงที่ดังฟังชัด เขากล่าวหารัฐบาลและคริสตจักรของแคนาดาว่า พยายามที่จะ “ลบล้างวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชนชาติที่ยิ่งใหญ่และน่าภาคภูมิใจจำนวนมาก ให้หมดสิ้นไปจากโลกใบนี้” มีการเลือกปฏิบัติ กีดกันและทำร้ายหรือล่วงละเมิดทั้งทางกาย ทางเพศ อารมณ์และจิตใจทุกรูปแบบ

 


คำพูดของผู้พิพากษาซินแคลร์ ไปกระตุ้นต่อมความจำในวัยเด็กที่เจ็บปวด ทุกคนที่อยู่ในห้องสอบสวน เริ่มสะอื้นน้ำตาไหลสะเทือนอารมณ์ ดูเหมือนประชาชนไม่ได้มารวมตัวกันเพื่อรับฟังผลการสอบสวนเท่านั้น แต่ยังได้สัมผัสกับการปลดปล่อยอารมณ์ด้วย 
จากนั้น ซิตแคลร์ ประกาศคำตัดสินที่แสดงถึงความน่ารังเกียจด้วยคำสองคำ คือ “Cultural genocide” หรือ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางวัฒนธรรม” พร้อมกับเสียงปรบมือระเบิดขึ้นในห้องสอบสวน

 

 

“สุสาน ไม่ใช่สนามเด็กเล่น” 


คณะกรรมการฯ ชุดนี้ เปิดเผยข่าวเศร้าว่า มีเด็กชาวอะบอริจิ้น หรือชนเผ่าพื้นเมืองถึง 6,000 คน เสียชีวิตจากการขาดอาหารและโรคร้ายต่าง ๆ ในโรงเรียนกินนอน เอกสารหลักฐานที่มีการบันทึกไว้จำนวนมากถูกทำลาย นี่เฉพาะที่มีหลักฐานบันทึก และเห็นได้ชัดว่า เจ้าหน้าที่โรงเรียนให้ความสำคัญกับครอบครัวของเด็กเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หลายครอบครัวไม่เคยได้รับแจ้งเกี่ยวกับการสูญเสียลูกชายและลูกสาวเลย เด็กชายและเด็กหญิงที่เสียชีวิตมักถูกฝังในบริเวณโรงเรียน ซึ่งผู้รอดชีวิตบอกว่า มันคือ “สุสาน ไม่ใช่สนามเด็กเล่น” 

 


ผู้พิพากษาซินแคลนด์ ประณามระบบโรงเรียนกินนอน ทำให้เกิดความผิดปกติ ความวุ่นวายและความยากจนในชุมชนเผ่าพื้นเมืองหลายแห่งในขณะนี้ พวกเขาเผชิญกับการก่ออาชญากรรม ยาเสพติดและอัตราการว่างงานสูงและขาดโอกาสในการเข้าถึงระบบสาธารณสุขและการศึกษา

 


นี่คืออีกหนึ่งเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตก ในประเทศที่อ้างตัวเองว่า ศิวิไลซ์ มีอารยธรรม ไม่ต้องสงสัย คนที่เคยเป็นนักเรียนในโรงเรียนกินนอกในยุคนั้นที่ยังมีชีวิตอยู่ แม้จะแก่เฒ่าชรามากแล้ว ก็จะไม่มีวันลืมเหตุการณ์ และจะเล่าเรื่องราวชั่วลูกชั่วหลาน และจะเป็นตราบาปติดตัวคริสตจักรและรัฐบาลแคนาดาต่อไป

 

 

Photo Gallery: ‘ที่นี่คือสุสาน ไม่ใช่สนามเด็กเล่น’

 


ภาพเยาวชนพื้นเมืองในโรงเรียนประจำ ที่ฉากหน้าเต็มไปด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม กับเหล่าแม่ชีใจดี ที่คอยดูแลพวกเขา...เบื้องหลัง คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางวัฒนธรรม ที่ทำให้เด็กพื้นเมืองหลายพันคนเสียชีวิต ร่างถูกฝังใต้โรงเรียนประจำที่เขาเคยวิ่งเล่น
“ที่นี่เป็นสุสาน ไม่ใช่สนามเด็กเล่น” หนึ่งในผู้รอดชีวิต กล่าวถึงตราบาปและมลทินดำมืดสุดในประวัติศาสตร์ของแคนาดา ช่วงศตวรรษที่ 19 ถึงทศวรรษที่ 1970

 


ผู้พิพากษาอ่านผลการสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดอง มีใจความว่า เด็กถึง 7 เจเนอเรชั่น หรือ 7 ชั่วอายุคน ถูก “พลัดพรากจากความรักของครอบครัว การเคารพตัวเอง และ...อัตลักษณ์ ตลอดเวลา 100 ปี” 
รัฐบาลและคริสตจักรของแคนาดาว่า พยายามที่จะ “ลบล้างวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชนชาติที่ยิ่งใหญ่และน่าภาคภูมิใจจำนวนมาก ให้หมดสิ้นไปจากโลกใบนี้” มีการเลือกปฏิบัติ กีดกันและทำร้ายหรือล่วงละเมิดทั้งทางกาย ทางเพศ อารมณ์และจิตใจทุกรูปแบบ

 

 


คำพูดของผู้พิพากษา กระตุ้นต่อมความจำในวัยเด็กที่เจ็บปวด ทุกคนที่อยู่ในห้องสอบสวน เริ่มสะอื้นน้ำตาไหลสะเทือนอารมณ์
จากนั้น ผู้พิพากษาประกาศคำตัดสินที่แสดงถึงความน่ารังเกียจด้วยคำสองคำ คือ “Cultural Genocide” หรือ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางวัฒนธรรม” พร้อมกับเสียงปรบมือระเบิดขึ้น

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง