รีเซต

โลกไปต่อไหวไหม ผลศึกษายันอากาศวิบัติสุดขั้ว จาก เยอรมัน ถึง ทิเบต

โลกไปต่อไหวไหม ผลศึกษายันอากาศวิบัติสุดขั้ว จาก เยอรมัน ถึง ทิเบต
ข่าวสด
25 สิงหาคม 2564 ( 14:32 )
185
โลกไปต่อไหวไหม ผลศึกษายันอากาศวิบัติสุดขั้ว จาก เยอรมัน ถึง ทิเบต

โลกไปต่อไหวไหม - ซีเอ็นเอ็น รายงานผลการศึกษาล่าสุดพบว่าฝนตกหนักในเยอรมนีและพื้นที่ใกล้เคียงฝั่งยุโรปตะวันตกเมื่อเดือนกรกฎาคมปีนี้ มากกว่าปกติถึง 9 เท่า เช่นเดียวกับผลศึกษาแนวโน้มสภาพอากาศในทิเบต ดินแดนหลังคาโลก จะเผชิญสภาพอากาศสุดขั้ว เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเกิดจากน้ำมือของมนุษย์

 

มหาอุทกภัยคร่าชีวิตผู้เกิน 220 ราย ระหว่างวันที่ 12-15 ก.ค. ส่วนใหญ่เป็นคนในเยอรมนี และหลายสิบคนในเบลเยียม ขณะที่บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างมากมายเสียหายจากน้ำท่วม บางส่วนของภูมิภาคยุโรปตะวันตกวัดปริมาณน้ำฝนที่ตกภายในวันเดียวได้เท่ากับปริมาณน้ำฝนที่ตกตลอดทั้งเดือน

 

ฝนหนักสุดรอบ 400 ปี

นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย 39 คนในโครงการภารกิจอากาศโลก The World Weather Attribution หรือ WWA พบว่าฝนตกหนักครั้งนี้เกิดขึ้นได้เพียง 1 ครั้งในรอบ 400 ปี และสภาพอากาศแปรปรวนทำให้ฝนในแต่ละวันตกหนักกว่าปกติร้อยละ 3-19

 

 

 

เฟรเดอริก ออตโต ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ กล่าวว่าแสดงให้เห็นว่าประเทศที่พัฒนาแล้วก็หนีผลกระทบจากอากาศรุนแรงสุดขั้วไม่ได้และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงยิ่งขึ้นเพราะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและเป็นความท้าท้ายต่อโลก ดังนั้น ชาวโลกจำเป็นต้องหยุดยั้งซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นวิทยาศาสตร์ที่เห็นผลชัดเจนมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว

 

 

มาร์เทิน ฟาน อัลสต์ อาจารย์ด้านสภาวะอากาศและบรรเทาภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยทเวนเทอ ในเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่าฝนที่ตกหนัก 1 ครั้งในรอบ 4 ศตวรรษเฉพาะบางภูมิภาคของโลก ไม่ได้หมายความว่าอีก 400 ปีข้างหน้า ส่วนอื่นๆ ในยุโรปหรือพื้นที่อื่นๆ ในโลกจะประสบอุทกภัยรุนแรงที่คล้ายกับที่เกิดขึ้นในยุโรปตะวันตก

 

ยิ่งไปกว่านั้น คาดว่าปีหน้าอาจจะเผชิญน้ำท่วมหนักกว่าปีนี้เพราะมีแนวโน้มที่สภาพอากาศรุนแรงขึ้นปีต่อปีทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ดังนั้น ปีหน้าอาจสาหัสกว่านี้และมีโอกาสที่จะเกิดฝนตกหนักได้มากกว่า 1 ครั้งใน 400 ปี

 

 

 

โลกไปต่อไหวไหม

นักวิทยาศาสตร์เน้นศึกษาในพื้นที่ที่น้ำท่วมหนัก ทั้งบริเวณโดยรอบแม่น้ำอาห์และเอิฟในเยอรมนี รวมทั้ง แม่น้ำเมิซในเบลเยียมซึ่งปริมาณน้ำฝนตกหนักจนทำลายสถิติและยังศึกษาเหตุน้ำท่วมที่เกิดขึ้นทั่วภูมิภาคด้วย รวมทั้ง ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์กและสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทำความเข้าใจว่าสภาพอากาศรุนแรงได้รับอิทธิพลจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นได้อย่างไร

 

นักวิทยาศาสตร์ดูสถิติสภาพอากาศและใช้คอมพิวเตอร์สร้างแบบจำลองขึ้นมาเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับรูปปัจจุบันพร้อมกับเตือนว่ายิ่งโลกอุ่นขึ้นก็ยิ่งจะทำให้ฝนตกถี่ขึ้นและหนักขึ้น

 

 

โลกทุกวันนี้ มีอุณหภูมิสูงกว่ายุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม 1.2 องศาเซลเซียส แต่ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส คาดว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกใน 1 วันจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8-6 และอาจจะตกมากขึ้น 1.2-1.4 เท่า

 

ฟาน อัลสต์ กล่าวว่าผลจากการศึกษาและคาดการณ์เป็น “ระฆังเตือน” ให้รัฐบาลและผู้นำท้องถิ่นปรับปรุงแผนรับมือสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว รวมทั้ง พิจารณาสร้างบ้านสำหรับเด็ก คนชราและคนพิการซึ่งต้องการที่พักซึ่งมีความปลอดภัยจากเหตุภัยพิบัติต่างๆ เช่น น้ำท่วมและไฟไหม้ พร้อมทั้งหวังว่าคนอื่นๆ ก็จะตระหนักถึงอันตรายจากภัยพิบัติธรรมชาติเช่นกัน รวมทั้ง คลื่นความร้อนและอื่นๆ

 

สิ่งที่ทำได้ คือ เร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและรับมือกับสภาพอากาศสุดขั้ว

 

 

ซีกโลกเหนืออ่วมไปตามๆ กัน

นักวิทยาศาสตร์ยอมรับว่าการคาดการณ์ปริมาณฝนตกมากกว่าปกติ 1.2-9 เท่าเป็นช่วงกว้างๆ เพราะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและอธิบายแบบจำลองและข้อมูลมาศึกษาพื้นที่ระดับท้องถิ่นเพื่อไม่ให้เกิดผลการศึกษาที่อาจจะแคบขึ้นในอนาคต แต่นักวิทยาศาสตร์ยังขาดข้อมูลสำคัญเพราะสถานีตรวจวัดบางแห่งได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม

 

 

การศึกษาจากแบบจำลองพบว่าน้ำท่วมหนักจะทำให้เกิดความเสียหายมากมาย รวมทั้ง ดินอิ่มตัว ส่วนภูมิประเทศที่เป็นหุบเขาแคบและภูเขาสูงชันเกิดผลกระทบคล้ายกรวยเมื่อเกิดน้ำท่วมรุนแรง

 

ฤดูร้อนนี้ ซีกโลกเหนือได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างจากสภาพอากาศสุดขั้ว ทั้งน้ำท่วมใหญ่ อุณหภูมิสูงทำลายสถิติและเกิดไฟป่าในสหรัฐ แคนาดา ไซบีเรีย อัลจีเรียและยุโรปใต้

 

ส่วนที่กรีนแลนด์ เกิดฝนตกบนยอดเขาเมื่อวันที่ 14 ส.ค. เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เนื่องจากอุณหภูมิสูงขึ้นมากว่าจุดเยือกแข็งเป็นครั้งที่ 3 ในเวลาไม่ถึง 10 ปีและอากาศอบอุ่นยังทำให้ฝนกระหน่ำลงมา 7,000 ล้านตัน

 

 

ล่าสุดรัฐเทนเนสซีของสหรัฐ เผชิญฝนตกหนักและน้ำท่วมใหญ่ โดยสำนักพยากรณ์อากาศในเมืองแนชวิลล์ วัดปริมาณน้ำฝนได้ถึง 17 นิ้วในเมืองแมคอีเวน ซึ่งอาจจะเป็นสถิติใหม่ของรัฐที่มีฝนตกมากขนาดนี้ หากตรวจสอบว่าข้อมูลถูกต้อง อาจจะทำลายสถิติก่อนหน้านี้ ที่วัดปริมาณน้ำฝนได้ 13.6 นิ้ว ในเมืองมิลานของอิตาลีเมื่อเดือน ก.ย. 2525

 

หลังคาโลกกระอักภัยพิบัติถี่ขึ้น

ไม่เพียงชาติตะวันตกที่เผชิญกับภัยอากาศสุดขั้วขณะนี้ งานศึกษาของนักวิทยาศาสตร์จีนมีผลที่น่าวิตกถึงเขตปกครองตนเอง ทิเบต ดินแดนที่ได้ชื่อว่าเแ็นหลังคาโลกด้วยเช่นกัน

 

ดินแดนทิเบตครอบคลุมพื้นที่เทือกเขาหิมาลัยที่ได้ชื่อว่าเป็นรั้วความมั่นคงทางระบบนิเวศวิทยา และเป็นเหมือนหอน้ำที่ไหลผ่านลงมายังพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ของเอเชีย

 

 

รายงานของคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงทางอากาศ ของสหประชาชาติ เผยแพร่เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ว่า ที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต จะเผชิญกับน้ำท่วมร้ายแรง และสภาพอากาศร้อนจัดและฝนหนักแบบสุดขั้ว

 

ส่วนรายงานของคณะนักวิจัยสำนักงานอุตุนิยมวิทยาจีน หรือ CMA ได้ผลคล้ายกันว่า แม้อุณหภูมิที่อุ่นขึ้นและฝนที่โปรยปรายลงมาจะทำให้แถบที่ราบสูงนี้เป็นสีเขียวมากขึ้น ทิวทัศน์ดูงดงามขึ้น แม่น้ำและทะเลสาบขยายออกไป ทำให้ที่อยู่อาศัยของกวาง ละมั่ง และลา ดีขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้ต้องแลกมาด้วยสิ่งน่าวิตกราคาสูง

 

 

 

นั่นคืออากาศที่อุ่นขึ้น หรือคิดเป็นอัตราเพิ่ม 0.35 องศาเซลเซียส นับจากทศวรรษ 1960 คิดเป็นสองเท่าของค่าเฉลี่ยโลก ความชื้นจะไปเร่งสภาพอากาศสุดขั้ว ทำให้สภาพอากาศไม่มั่นคง ปริมาณน้ำฝนช่วงปี 2016-2020 (พ.ศ.2549-2563) สูงขึ้นถึงร้อยละ 12.7 เมื่อเทียบกับช่วงปี 1961-1990 (พ.ศ.2505-2533)

 

 

นอกจากนี้ยังทำให้เส้นทางน้ำไหลเปลี่ยน ขนาดของทะเลสาบบนที่ราบและพื้นที่ในทะเลทรายโกบีเริ่มลดลงเรื่อยๆ เกิดภัยพิบัติอย่างโคลนถล่ม หิมะถล่ม ธารน้ำแข็งแตกมากขึ้นตลอด 40 ปีมานี้ และเกิดการรุกรานจากสิ่งมีชีวิตที่อยู่ด้านล่างจนสัตว์ประจำถิ่นอยู่ภายใต้ความเครียดและกดดัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง