รีเซต

“แอพหาคู่” ขาดทุนหนักเหตุผู้ใช้งานไม่อยากที่จะ "จ่ายหนักเพื่อให้ความรักสมหวัง" | Exclusive

“แอพหาคู่” ขาดทุนหนักเหตุผู้ใช้งานไม่อยากที่จะ "จ่ายหนักเพื่อให้ความรักสมหวัง" | Exclusive
TNN ช่อง16
17 สิงหาคม 2567 ( 14:59 )
19
“แอพหาคู่” ขาดทุนหนักเหตุผู้ใช้งานไม่อยากที่จะ "จ่ายหนักเพื่อให้ความรักสมหวัง" | Exclusive




ปัจจุบันแอปพลิเคชันหาคู่เกิดขึ้นมาด้วยความต้องการที่จะทำให้ความรักโคจรมาพบกันได้ง่ายขึ้น โดยผู้ใช้งานสามารถฟีลเตอร์ (Filters) คัดกรองคู่เดทให้ตรงกับสเปกที่เราต้องการได้ การคัดเลือกผ่านอัลกอริทึมจากผู้พัฒนา หรือแม้กระทั่งระบบ Subscription หรือ สมัครสมาชิกแบบจ่ายเงินเพื่อเพิ่มการมองเห็น และคัดกรองคู่เดทที่ตรงสเปกเรามากยิ่งขึ้น


แต่ในทุกวันนี้ สถิติเผยว่า แอพหาคู่กำลังมีนัยยะสำคัญทางความนิยมที่ลดลงอย่างต่อเนื่องแบบน่าใจหาย ด้วยเหตุผลหลักที่มาจาก “ผู้ใช้งานไม่จ่ายหนักเพื่อให้ความรักสมหวัง ?”


จ่ายหนักไปเพื่อการใด ?


จากการศึกษาของ The Economist ได้ชี้ให้เห็นว่า แอพหาคู่กำลังได้รับความนิยมที่ลดลงอย่างมากใน 3 ปีหลังสุด (2022-2024) โดยร่วงลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 140 ล้านผู้ใช้งาน เมื่อเทียบกับช่วงระหว่างปี 2020-2021 ที่มีผู้ใช้งานแตะหลักเกือบ 160 ล้าน ก็นับว่าร่วงลงมามากพอสมควร  



โดยเฉพาะแอพ “Bumble” แอพหาคู่ส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ของสหรัฐอเมริกาในปี 2023 ที่ราว ๆ 38% ร่วมกันกับ “Tinder” ที่มีตัวเลขผู้ใช้งานและการเติบโตลดลงอย่างน่าใจหายโดนมีส่วนแบ่งทางตลาดหุ้น “ดัชนี S&P 500” ในอัตราที่ลดลงเกินกว่า 95% จากปี 2021 ซึ่งหมายความว่า บริษัทมีการเติบโตที่ถดถอดลงจนอาจจะเสียความเป็นใหญ่และความแข็งแกร่งในหุ้นของสหรัฐฯ ไป



เหตุผลหลัก ๆ ที่เป็นเช่นนี้ จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ใช้งานในระดับ “วัยรุ่นตอนปลายถึงวัยอุดมศึกษา” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้งานแอพหาคู่มากที่สุด ราว ๆ 88 สถาบันการศึกษา  ชี้ให้เห็นว่าผู้ใช้งานไม่อยากที่จะ “จ่ายหนักเพื่อให้ความรักสมหวัง” เนื่องจากการที่เราจะพบกับ “ผู้ที่คาดว่าจะตรงสเปก” ได้นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจ่ายเงินระดับมหาศาลเพื่อเพิ่มโอกาสพบกับความรักที่สมหวัง และการจ่ายที่ว่านั้นมีระดับราคาสูงไม่ใช่ในราคาปกติทั่วไป ซึ่งเป็นกลยุทธ์การตั้งราคาของผู้ให้บริการแอปพลิเคชันหาคู่ดังกล่าว


ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย ๆ แอพเปิดให้เล่นฟรี แต่ก็จะมีข้อจำกัดด้านการคัดกรองที่อาจจะมีตัวกรองน้อยหรือจำกัดจำนวนในการปัดขวาเพื่อค้นหาผู้ที่ชอบ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่เราต้องการเดทด้วยจริง ๆ ห่างไกลออกไป การจะเพิ่มประสิทธิภาพจะต้องจ่ายเงินให้แอพเพื่อเพิ่มโอกาสพบความรักที่ตรงใจ แต่ไม่ใช่ว่าการจ่ายเงินนั้นสิ้นสุดในเรตราคาเดียว เพราะแอพก็จัด “แพ็คเกจ” ให้เลือกหลากหลาย อาทิ จ่ายเงินเท่านี้เพื่อปลดล็อคบางฟิลเตอร์ จ่ายเพิ่มอีกหน่อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของอัลกอริทึม หรือจ่ายระดับสูงสุดเพื่อโยกย้าย Location ไปค้นหารักแท้ยังต่างแดน 


ทั้งนี้ การจ่ายดังกล่าวยังไม่ใช่การจ่ายทีเดียวจบ แต่เป็นระบบ Subscription ที่ต้องจ่ายเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายไตรมาศ ซึ่งหมายถึงเจ้าของแอพก็จะสามารถที่จะเรียกเก็บเงินได้เรื่อย ๆ หากผู้ใช้งานยังไม่ค้นพบความรักที่ตามหา หรืออาจจะพบแต่ไปกันไม่ได้ ก็จะหันมาจ่ายเงินเพื่อตามหาอีกครั้ง


ทั้งหมดข้างต้น จึงทำให้เกิดความเบื่อหน่ายแก่ผู้ใช้อย่างมาก เพราะเหมือนเป็นการค้ากำไรกับความรักมากกว่าที่จะเป็นกามเทพในรูปแบบออนไลน์ ดังนั้น ผู้ใช้หลายรายจึงเลือกที่จะลบแอพทิ้ง และพยายามกลับไปเริ่มต้นใหม่ ณ จุดที่เคยเป็นมา อย่างการนัดบอร์ด ทำกิจกรรมกลุ่มแบบสุ่ม หรือติดต่อผ่านเพื่อนของเพื่อนมากยิ่งขึ้น


ทางออกของแอพหาคู่


เมื่อมาถึงตรงนี้ คำถามที่ตามมา นั่นคือ ท้ายที่สุด บรรดาแอพหาคู่จะมีทางออกอย่างไร ? เพราะไม่อย่างนั้น พวกเขาก็อาจจะต้องปิดกิจการไปอย่างถาวร


เรื่องนี้ สามารถอ่านสัญญะได้จาก ไลไดแอน โยนส์ ซีอีโอของ Bumble ที่ได้อธิบายว่า บริษัทของตนนั้นเป็นบริษัทที่ “สร้างมาเพื่อเชื่อมร้อยมากกว่าเชื่อมรัก (Connections company rather than dating company)” หมายความว่า พวกเขาไม่ได้พิจารณาว่าแพล็ตฟอร์มเช่นนี้จะเป็นสื่อกลางของการหาความรักหรือหาความรักที่ “สถาพร” เพียงอย่างเดียว จริง ๆ สามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น


ที่น่าสนใจที่สุด คือ การใช้แอพหาคู่เพื่อหา “One Night Stand (ONS)” หา “Friend With Benefit (FWB)” หรือ กระทั่งหา “รับงาน” หากใครที่มุ่งมาทางนี้ ย่อมสามารถที่จะจ่ายเงินเพื่อคัดกรองความต้องการแบบ “ชั่วครั้งชั่วคราว” ได้มีประสิทธิภาพกว่าการไปคัดเลือก “หน้างาน” ไม่มากก็น้อย


หรือกระทั่งการสร้างทางเลือกในการค้นหาความรักของ “LGBTQI+” ที่ในบาง Genre ก็ยากแก่การที่จะระบุว่า เขานั้นเป็นแบบที่เราคิดหรือไม่ อาทิ “เลสเบี้ยน” หรือ “เกย์” ที่หากมองเพียงผิวเผินก็ยากที่จะระบุ หรือการเดินดุ่ม ๆ เข้าไปทักทายโดยคิดว่าเขาเป็นเช่นนั้นก็อาจหน้าแตกกลับมาได้ ดังนั้น การพึ่งพาแอพก็ช่วยเหลือตรงนี้ได้ประมาณหนึ่ง


ทั้งนี้ ความรักเป็นสิ่งสวยงาม ไม่ว่าจะพบเจอในโลกความเป็นจริงหรือโลกเสมือน ก็เป็นความรักเช่นเดียวกัน แพล็ตฟอร์มก็เป็นเพียงเครื่องมือช่วยเหลือ ความสำคัญจึงอยู่ที่ว่า เราต้องการความรักแบบใดเป็นที่ตั้ง


Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล [Hayden Whiz]


แหล่งอ้างอิง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง