ทีดีอาร์ไอแนะรัฐคุมค่าโดยสารสายสีเขียวไม่แพงเกินไป-ถามขยายสัมปทาน 30 ปีเป็นประโยชน์จริง?
นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงกรณีการเสนอต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมีเงื่อนไขอัตราค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสายว่า ต้องพิจารณาก่อนว่าเงื่อนไขการต่อสัญญาสัมปทานดังกล่าวคำนึงจากอะไร หากมองว่าเป็นการลดภาระหนี้ของกทม.ก็ฟังได้ในระดับหนึ่ง รวมทั้งเราตั้งเป้าไว้ว่าการเดินทางโดยรถไฟฟ้า ควรจะเป็นการเดินทางของคนจำนวนมากใช่หรือไม่ การกำหนดราคาที่แพงเกินกว่าที่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ ถือเป็นการผิดโจทย์ของการจัดกาารขนส่งมวลชนหรือไม่ ก็ต้องพิจารณา
นายสุเมธ กล่าวว่า โดยปกติแล้วต้นทุนของการก่อสร้างรถไฟฟ้าแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ระบบปฏิบัติการ และระบบการเดินรถ ในต่างประเทศค่าโดยสารมักจะพิจารณาให้คุ้มทุนอย่างน้อยคือการเดินรถ และหากสามารถดำเนินการก็ครอบคลุมถึงระบบ แต่ไม่มีที่ไหนไปคิดค่าโครงสร้างพื้นฐานเอากับประชาชน หรือใส่ไว้เป็นค่าโดยสาร โดยส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลาง ที่จะสนับสนุน ซึ่งก็คือเงินภาษีของประชาชนที่เก็บมาได้ ยกตัวอย่างการก่อสร้างถนน ก็ไม่ได้เก็บภาษีจากผู้ใช้ถนนเพียงกลุ่มเดียว แต่ยังมีผู้เสียภาษีอีกมากที่ต้องจ่ายไปกับการก่อสร้างนั้นๆ ดังนั้นการกำหนดค่าโดยสารโดยคิดว่าจะให้ครอบคลุมต้นทุนทั้งหมดคงไม่สมเหตุสมผลล
นายสุเมธ กล่าวว่า สำหรับราคาที่เหมาะสมนั้น คงต้องพิจารณาหลายส่วนทั้งเรื่องของรายได้ จำนวนประชากร แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ค่าเดินทางไม่ควรจะเกิน 4 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ซึ่งถือเป็นค่าเฉลี่ย อาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ไม่มากนัก ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะส่งผลถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เพิ่มมากขึ้น เมื่อสิทธิในการเดินทางไม่ถูกจำกัด ก็จะเปิดโอกาสในชีวิต สามารถหางานที่มีคุณภาพได้มากขึ้น ไม่ถูกจำกัดแต่ในพื้นที่เฉพาะ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเข้ามาร่วมในการพิจารณา
นายสุเมธ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหา ก็คงต้องเรียกร้องกทม. ที่เป็นเจ้าของเรื่อง ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าการต่อสัญญาสัมปทานอีก 30 ปี แล้วคงราคาค่าโดยสารตามที่กำหนดไว้ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่หรือไม่ หากเป็นเรื่องที่ใหญ่เกินไป รัฐบาลกลางก็ต้องเข้ามาช่วยเหลือ ดูแลเรื่องภาระค่าใช้จ่ายหรือหนี้สินของกทม. โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมเร่งเจรจา เพราะในส่วนของสัญญาต่างๆก็มีเงื่อนไขที่จะปรับเปลี่ยนได้ อยู่ที่ว่ารัฐบาลวางนโยบายหลักไว้อย่างไร
“ถ้ามองเรื่องรถไฟฟ้าเป็นบริการสาธารณะ ก็ควรจะต้องหารือข้อตกลงกำหนดท่าทีให้ชัดเจน ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีเขียวเท่านั้น แต่หมายถึงรถไฟฟ้าทุกสาย กำหนดให้ชัดเจนว่าค่าโดยสารจะอยู่ที่เท่าไหร่ ไม่เป็นภาระของรัฐ-เอกชน และประชาชน ให้ได้ข้อตกลงร่วมกัน อะไรที่ดำเนินการได้ควรดำเนินการไปก่อน ไม่เช่นนั้นรอจนสัญญาจบแล้วค่อยทำ ให้รุ่นลูกเรามาถึง ทุกอย่างก็ยังเป็นเหมือนเดิม รัฐบาลต้องทำให้ชัด วางนโยบายแล้วกำหนดหลักเกณฑ์ เชื่อว่าเอกชนก็พร้อมดำเนินการทุกอย่าง เหมือนเรื่องโทรคมนาคม ก่อนนี้ใช้ระบบสัมปทาน ค่าโทรศัพท์ก็แพง แต่เมื่อรัฐบาลปรับตัว ปรับเกณฑ์มาเป็นการแข่งขันเสรี ค่าบริการก็ลดลง การแข่งขันก็มากขึ้น ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีส่วนสำคัญกับเรื่องบริการสาธารณะ”นายสุเมธ กล่าว