รีเซต

เอกชนหนุนแผนภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย ให้ทุกคนเข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น

เอกชนหนุนแผนภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย ให้ทุกคนเข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น
มติชน
24 กุมภาพันธ์ 2565 ( 18:14 )
43
เอกชนหนุนแผนภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย ให้ทุกคนเข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น

ข่าววันนี้ นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้มีการเปิดตัว consultation paper ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน ที่ได้สื่อสารมุมมองและการปรับวิธีคิดของ ธปท.เกี่ยวกับภูมิทัศน์ภาคการเงินไทยในระยะข้างหน้า เพื่อเปิดรับฟังความเห็นจากสาธารณชน ทั้งในเรื่อง (1) ดิจิทัล หรือการเปิดให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมาพัฒนาบริการทางการเงินให้ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการได้ดีขึ้นและทั่วถึงขึ้น (2) ความยั่งยืน บทบาทภาคการเงินสนับสนุนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม และหนี้และการเงินของภาคครัวเรือน (3) การกำกับอย่างยืดหยุ่น และเท่าทันความเสี่ยง

 

น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์และผู้เล่นใหม่ที่จะเข้ามาต้องปรับตัวเยอะกว่าเดิม ซึ่งเห็นด้วยกับ ธปท.ที่รับฟังความเห็น แต่การที่จะให้เศรษฐกิจเติบโตไปได้ควบคู่กับการดูแหนี้ ปัจจุบันยังมีผู้ใช้บริการหนี้นอกระบบอยู่มาก จากข้อมูล สสว.มีเอสเอ็มอี 2.29 ล้านราย แต่มี 37.4% เข้าไม่ถึงสินเชื่อ เชื่อว่าเวอร์ชวลแบงก์ หรือธนาคารเสมือน จะให้กลุ่มนี้เข้าถึงการเงินได้ดี จากที่คาดการณ์สามารถเพิ่มผลทางเศรษฐกิจได้ 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือ 0.08% ของจีดีพี

 

นายสันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท SEA Group กล่าวว่า ช่องว่างของภาคการเงินไทย แบ่งเป็น 3 ประเภท ช่องว่างของเมื่อวาน คือลูกค้ารายย่อยไม่มีประวัติเครดิต เอสเอ็มอี ช่องว่างของวันนี้ คือกลุ่มที่มีศักยภาพเศรษฐกิจ แต่การทำงานจะไม่มีสลิปเงินเดือน ไม่มีหน้าร้านชัด เป็นลักษณะการทำงานแบบฟรีแลนซ์ และช่องว่างของวันพรุ่งนี้ คือเว็บ 3.0 การเปลี่ยนมาดูแลสิ่งแวดล้อม

 

นายสันติธารกล่าวว่า หัวใจของภาคการเงิน คือมีความหลากหลาย จะมีจุดแข็งจุดอ่อนของแต่ละตนเอง จะทำให้เศรษฐกิจทุกภาคส่วนเติบโตได้ โดยธนาคารเสมือนมีจุดแข็งคือ 1.Agility หรือความคล่องตัว การปรับผลิตภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็ว 2.Access หรือเข้าถึงทรัพยากร โครงสร้างพื้นฐาน เช่น การทำ eKYC ระบบชำระเงิน ฐานข้อมูล เข้าถึงแหล่งเงินต้นทุนต่ำ ดึงดูดคนให้มาเข้าอยู่ในระบบให้มากที่สุด โดยกฎระเบียบต้องไม่เข้มงวด ต้องให้ความรู้ความเข้าใจ มีความเชื่อใจซึ่งกันและกัน

 

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า เห็นทางสว่างของระบบการเงินประเทศ โดย ธปท.เปิดความคิดให้แสดงความคิดเห็น แต่ก่อนกว่าจะเข้าถึงสินเชื่อ ต้องรู้จักกันก่อน และมีความเหลื่อมล้ำมาก คือธุรกิจรายใหญ่สามารถเข้าถึงสินเชื่อง่าย แต่ธุรกิจรายย่อยเข้าไม่ค่อยถึง กลุ่มนอนแบงก์จึงมีบทบาทมากขึ้น มีการเก็บข้อมูลจากผู้ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือรายเดือน ที่สามารถเก็บประวัติการใช้จ่าย การใช้บริการ ทำให้สามารถผ่อนโทรศัพท์แล้วจ่ายรายเดือนได้ หรือการซื้อของออนไลน์ก็เช่นเดียวกัน มีการเก็บประวัติการซื้อขาย ทำให้สามารถซื้อของแล้วจ่ายทีหลังได้ โดยความเสี่ยง ต้องมีการดูประวัติของบุคคลด้วยว่านำสินเชื่อไปใช้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ธปท. จะต้องไปดูอัตราดอกเบี้ยอย่างเป็นธรรมด้วยเช่นกัน

 

ขณะที่ น.ส.เมธินี จงสฤษดิ์หวัง Thailand Country Consulting Leader and Executive Director บริษัท Deloitte Consulting กล่าวว่า ต้องมีการเพิ่มโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับให้กับกลุ่มนอนแบงก์ พร้อมกับการให้สิทธิประโยชน์ให้กับกลุ่มธนาคารดั้งเดิมด้วย อีกทั้งการบริหารความเสี่ยงบนเทคโนโลยีใหม่ ผู้ให้บริการธนาคารเสมือนหน้าใหม่ อาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จทั้งหมด ในต่างประเทศจะต้องมีแผนการรองรับการปิดกิจการด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง