กพท.สั่งสายการบิน ห้ามทำการบินในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม เริ่ม 21 ก.ค.นี้
วันนี้ (18 ก.ค.64) นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ออกประกาศเรื่อง แนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการสนามบินและผู้ดำเนินการเดินอากาศในเส้นทางการบินภายในประเทศในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ฉบับที่ 3) โดยระบุว่า
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564 และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ประกาศ ณ วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 กำหนดมาตรการที่มุ่งลดและจำกัดการเคลื่อนย้าย การเดินทางของบุคคล และการดำเนินกิจกรรมในระบบ ขนส่งสาธารณะให้มากที่สุด
ดังนั้น เพื่อลดการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน ซึ่งรัฐบาลขอความร่วมมือให้ประชาชน หลีกเลี่ยงหรือชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัดในช่วงเวลานี้โดยไม่มีเหตุจำเป็น สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยจึงออกประกาศกำหนดแนวปฏิบัติ ดังนี้
1. ให้ยกเลิกประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง แนวปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการสนามบินและผู้ดำเนินการเดินอากาศในเส้นทางการบินภายในประเทศในระหว่างสถานการณ์ การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ฉบับที่ 2) ประกาศ ณ วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2564 และให้ใช้ประกาศฉบับนี้แทน
2. ประกาศนี้ให้ใช้บังคับแก่เที่ยวบินภายในประเทศ (Domestic Flight) ที่ให้บริการผู้โดยสาร(Passenger Flight) เท่านั้น
3. ห้ามมิให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศปฏิบัติการบินรับส่งผู้โดยสารเข้าหรือออกพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) ในช่วงเวลาที่มีการระบาดสูงตามข้อกำหนด เว้นแต่เป็นเที่ยวบินที่เกี่ยวข้องกับโครงการพื้นที่นำร่องเปิดประเทศ (Sandbox) หรือเป็นกรณีอากาศยานที่ ขอลงฉุกเฉิน (Emergency Landing) หรือขอลงทางเทคนิค (Technical Landing) โดยไม่มีผู้โดยสารลงจากเครื่อง หรือ มีความจำเป็น และได้รับอนุญาตจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ซึ่งจะต้องแสดงหลักฐานเพื่อแสดงความจำเป็นนั้นเพื่อประกอบการขออนุญาต เช่น เพื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์ เพื่อการรับวัคซีน เป็นต้น
4.ในกรณีที่มีการยกเลิกเที่ยวบินและการรวมเที่ยวบิน ให้มีการแจ้งและดูแลผู้โดยสารอย่างเหมาะสมตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางบิน ประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553
5.ให้ผู้ดำเนินการสนามบินและผู้ดำเนินการเดินอากาศจัดเตรียมเอกสารรับรองความจำเป็นให้กับผู้ที่ต้องปฏิบัติงานขนส่งสาธารณะในสังกัดของตนซึ่งได้รับยกเว้นเพื่อใช้แสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หากมีการตรวจสอบ ในการปฏิบัติงานในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
6. ในการดำเนินการของผู้ดำเนินการสนามบินและผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ยังคงมีการให้บริการอยู่ในห้วงเวลานี้ให้ปฏิบัติดังนี้
- ในการปฏิบัติการบินเพื่อรับส่งผู้โดยสารให้มีจำนวนผู้โดยสารได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของขีดความสามารถในการรับผู้โดยสารของอากาศยานที่ใช้ในเที่ยวบินนั้น ๆ และให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศพิจารณาการจัดที่นั่งในเครื่องบินอย่างเหมาะสมโดยคำนึงถึงมาตรการเว้นระยะห่างเพื่อไม่ให้เกิดความหนาแน่นแออัด อันจะมีส่วนช่วยในการป้องกันควบคุมโรค ในกรณีที่ผู้โดยสารเดินทางมาด้วยกันสามารถให้นั่งติดกันได้
- ก่อนเข้าพื้นที่ท่าอากาศยาน ให้ผู้ดำเนินการสนามบินทำการตรวจคัดกรองบุคคลที่เข้ามา ใช้บริการในท่าอากาศยานอย่างเข้มงวด โดยต้องมีการตรวจสอบการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าและการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย (Body Temperature Screening) ด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรด ที่ไม่ต้องสัมผัสกับร่างกายของผู้ถูกตรวจวัด (Non-contact Infrared Thermometer) หากบุคคลนั้น ไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า หรือวัดอุณหภูมิได้สูงกว่า 37.3 องศาเซลเชียส หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบให้ปฏิเสธการให้เข้าพื้นที่ทำอากาศยาน โดยเด็ดขาด
- ก่อนออกบัตรโดยสาร ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศตรวจสอบเอกสารสำคัญของผู้โดยสาร ตามมาตรการป้องกันโรคของจังหวัดปลายทางอย่างเคร่งครัด หากตรวจสอบแล้วพบว่าเอกสารไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน อาจพิจารณาระงับการออกบัตรโดยสารแก่ผู้โดยสารนั้น โดยเงื่อนไขการเดินทางเข้า/ออก และมาตรการควบคุมโรคของแต่ละจังหวัดสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ที่ https://www.moicovid.com/
- ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศทำการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของผู้โดยสารโดยใช้ เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดที่ไม่ต้องสัมผัสกับร่างกายของผู้ถูกตรวจวัดก่อนขึ้นเครื่องที่สถานีต้นทาง หากวัดอุณหภูมิได้สูงกว่า 37.3 องศาเซลเชียส หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูกหายใจเหนื่อยหอบ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที
- ก่อนออกจากพื้นที่ท่าอากาศยาน ให้ผู้ดำเนินการสนามบินทำการตรวจคัดกรองผู้โดยสาร อย่างเข้มงวดโดยการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดที่ไม่ต้องสัมผัสกับร่างกายของผู้ถูกตรวจวัด หากวัดอุณหภูมิได้สูงกว่า 37.3 องศาเซลเชียส หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที
- ให้ผู้ดำเนินการสนามบินติดตามดูแลให้ผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ทำอากาศยานปฏิบัติตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โดยเคร่งครัด
- ให้ผู้ดำเนินการสนามบินและผู้ดำเนินการเดินอากาศเพิ่มความเข้มงวดในการติดตามดูแล ให้ประชาชนผู้มาใช้บริการปฏิบัติตามมาตรการในระเบียบสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยว่าด้วยแนวปฏิบัติในการให้บริการผู้โดยสารสำหรับเส้นทางการบินภายในประเทศในระหว่างสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พ.ศ. 2564 ประกาศ ณ วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2564 โดยเคร่งครัด และมาตรการ แนวทาง หรือแนวปฏิบัติอย่างอื่นที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ศบค.หรือรัฐบาลกำหนด
- ให้ผู้ดำเนินการสนามบินและผู้ดำเนินการเดินอากาศแจ้งเตือนผู้โดยสารกรณีเป็นผู้ป่วยยืนยันหรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้งดการเดินทาง หากฝ่าฝืนอาจได้รับโทษตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะสิ้นสุดไปหรือมีประกาศอื่นใดเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) ประกอบด้วย 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, นครปฐม, นนทบุรี, นราธิวาส, ปทุมธานี, ปัตตานี, พระนครศรีอยุธยา, ยะลา, สงขลา, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร.