รีเซต

ไทยไม่น้อยหน้า! งาน Defense & Security 2022 พบผู้พัฒนาอาวุธไทยเพียบ

ไทยไม่น้อยหน้า! งาน Defense & Security 2022 พบผู้พัฒนาอาวุธไทยเพียบ
TNN ช่อง16
5 กันยายน 2565 ( 13:37 )
141
ไทยไม่น้อยหน้า! งาน Defense & Security 2022 พบผู้พัฒนาอาวุธไทยเพียบ

งาน Defense and Security 2022 คืองานนิทรรศการอาวุธ ยุทธภัณฑ์ และบริการด้านการป้องกันประเทศที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ถึง 1 กันยายนที่ผ่านมา ณ อิมแพค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี โดยมีภาคเอกชนเข้าร่วมงานกว่า 500 บริษัท จาก 45 ประเทศทั่วโลก เป็นการรวมตัวนายทหารและเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงจากทั่วโลกก็ว่าได้ ซึ่งจุดเด่นภายในงานก็หนีไม่พ้นส่วนจัดแสดงจากผู้ผลิตในประเทศไทยที่เข้ามาจัดแสดงกันอย่างคึกคัก


ไฮไลต์โดดเด่นที่สุดของปีนี้อยู่ที่บริษัท ATIL (Aero Technology Industry) ผู้ผลิตและจำหน่ายโดรนทางการทหาร และระบบอากาศยานที่ตั้งเป้าเป็นเบอร์ 1 เมืองไทย เปิดตัวโดรนรุ่น DP-16 DP-20 และ DP-20/A โดยทั้ง 3 รุ่นเป็นโดรนทางการทหารที่พร้อมติดอาวุธสำหรับใช้งาน มีความแตกต่างหลัก ๆ อยู่ที่พิสัยการบินและขนาด โดยมีรุ่น DP-16 เป็นน้องเล็กที่สุดในกลุ่ม และทางบริษัทได้เสนอรุ่น DP-20 ให้กองทัพบกไทยทดลองใช้งาน โดยรุ่นนี้จะมีเพดานการบินสูงสุดไม่เกิน 7,000 เมตร ติดตั้งอาวุธหรือระบบสังเกตการณ์ได้ไม่เกิน 150 กิโลกรัม ระยะทางบินปฏิบัติการ 250 กิโลเมตร ระยะแบบบินสังเกตการณ์ไม่เกิน 2,000 กิโลเมตร พร้อมกับความเร็วในการบินสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดย ATIL นับเป็นบริษัทไทยอีกรายที่เปิดตัวโดรนทางการทหาร ซึ่งก่อนหน้านี้มี RV Connex ที่โด่งดังไปเมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว

ในขณะที่ชัยเสรี บริษัทผลิตยานเกราะชื่อดังของไทยก็ร่วมจัดแสดงในงานนี้เช่นเดียวกัน โดยบริษัทได้ทำการปรับปรุงและเปิดตัวรถยานเกราะแบบใหม่ถึง 4 รุ่น ซึ่งมีพื้นฐานใกล้เคียงกัน แต่มีการปรับให้แต่ละรุ่นเน้นการใช้งานเฉพาะทาง เช่น First Win ARV (Armoured Reconnaissance Vehicle) เป็นรถตรวจการณ์ระยะไกลที่สามารถติดตั้งกล้องตรวจการณ์ระยะไกลสูงสุดถึง 10 กิโลเมตร และรถ First Win ALV (Armoured Light Vehicle) ที่สามารถปรับแต่งให้กลายเป็นรถเฉพาะด้านตามภารกิจหน่วยงาน อย่างการติดตั้งระบบลิฟต์สำหรับขนส่งหุ่นยนต์กู้ระเบิด (EOD Robot) เป็นต้น โดยรถเกือบทุกรุ่นที่เปิดตัวในงานปีนี้จะสามารถกันกระสุนระดับอาวุธสงครามและระเบิดได้ตามมาตรฐาน STANAG 4569 Lv.2 อีกด้วย ส่วน First Win ALV จะกันกระสุนตามมาตรฐาน Lv.1 เท่านั้น แต่ทางบริษัทกล่าวว่ารถทั้งหมดสามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการของผู้ซื้อ

ในส่วนของยุทธภัณฑ์ที่เกิดจากฝีมือคนไทยมีที่น่าจับตามองหลายบริษัท เช่น เอ็นโวสตาร์ (Envostar) ผู้ผลิตเกราะกันกระสุนสำหรับสวมใส่และยานพาหนะ ที่ล่าสุดได้พัฒนาเป็นบังเกอร์ (Bunker) หรือป้อมยามที่นำไปติดตั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้ว อีกทั้งยังมีการพัฒนาระบบกระจกกันกระสุนแบบใหม่โดยสาธิตการติดตั้งกับรถยนต์หรูภายในงานอีกด้วย


และภายในงานยังมีส่วนจัดแสดงของบริษัท DRC บริษัทไทยที่มีผลงานด้านระบบตัดสัญญาณวิทยุสื่อสารและสัญญาณโทรศัพท์ ผลิตและเสนอระบบตัดสัญญาณหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบระบบขนาดใหญ่สำหรับติดตั้งเข้ากับรถตู้ ระบบอเนกประสงค์ขนาดกระเป๋าเดินทาง และระบบขนาดเล็กสำหรับสะพายหลัง ซึ่งมีผลงานในการปฏิบัติภารกิจกู้ระเบิดและการทำงานในพื้นที่เสี่ยงของตำรวจตระเวนชายแดนมาแล้ว

ปิดท้ายด้วยส่วนนิทรรศการของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ DTI (Defence Technology Insitute) ที่ขนนวัตกรรมตั้งแต่อาวุธประจำกายของทหาร เช่น ปืนไรเฟิลต่อสู้ขนาดเล็ก DTI7 ระบบป้องกันเพื่อความมั่นคง เช่น ระบบตรวจจับใต้ท้องรถแบบเรียลไทม์ ซึ่งสามารถจับภาพความละเอียดสูง รองรับรถที่วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และระบบกล้องใหม่ล่าสุดที่พร้อมเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลอาชญากรรม ไปจนถึงอาวุธสงครามขนาดใหญ่อย่างรถฐานยิงจรวดหลายลำกล้องแบบอเนกประสงค์ หรือ PULS (Precise & Universal Launching System) ที่พัฒนาร่วมกันกับเอลบิต ซิสเต็มส์ (Elbit Systems) ผู้พัฒนาจรวดและอาวุธชื่อดังของโลก สร้างรถฐานยิงที่ติดตั้งแท่นยิง (Pod) ได้ถึง 2 แบบ พร้อม ๆ กัน รวมถึงยานเกราะไร้คนขับ (Unmanned Ground Vehicle: UGV) D-IRON ที่เป็นการพัฒนาส่วนประกอบต่าง ๆ จากหลายแบรนด์ให้ทำงานร่วมกันเป็น UGV 1 ระบบ

ภายในงานยังมีส่วนจัดแสดงของกระทรวงกลาโหม ถึงการพัฒนาอาวุธและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในด้านต่าง ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของกระทรวงกลาโหมในการพยายามพัฒนาอุตสาหกรรมด้านนี้อย่างจริงจัง โดยงาน Defense and Security จะจัดขึ้นอีกครั้งในปีหน้า


ที่มาข้อมูล Defense and Security 2022

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง