รีเซต

เช็กไทม์ไลน์ 84 วัน ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนคดี "เศรษฐา" ตั้ง "พิชิต" เป็นรมต.

เช็กไทม์ไลน์ 84 วัน ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนคดี "เศรษฐา" ตั้ง "พิชิต" เป็นรมต.
TNN ช่อง16
13 สิงหาคม 2567 ( 13:09 )
26

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีคุณสมบัติ "นายเศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี


14 สิงหาคม 2567 ถือเป็นวันชี้ชะตาของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดวินิจฉัยคดีคำร้องของ 40 สมาชิกวุฒิสภา ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของนายเศรษฐาจากการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หลังศาลใช้เวลาพิจารณาคดีนี้ถึง 84 วัน 


ไทม์ไลน์คดีคุณสมบัตินายเศรษฐา 


คดีเริ่มต้นเมื่อ 28 เม.ย.2567 ที่มีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ครม.ชุดใหม่ "เศรษฐา 1/2" โดยมีรายชื่อนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ก่อนจะมีการร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.และตั้งข้อสังเกตจากนักวิชาการ-อดีต กกต. ว่านายพิชิตเคยถูกศาลฎีกาสั่งจำคุก 6 เดือน ในคดีพยายามให้เงินถุงขนมเจ้าหน้าที่ศาล จำนวน 2 ล้านบาท ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีหรือไม่  


ก่อนที่วันที่ 15 พ.ค. จะมี สว.40 คน ยื่นคำร้องผ่านประธานวุฒิสภา ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความสิ้นสุดของตำแหน่งนายกฯ ของนายเศรษฐา และนายพิชิต โดยศาล รธน.รับคำร้องไว้วินิจฉัยเมื่อ 23 พ.ค. ซึ่งนายพิชิตก็ลาออกจากตำแหน่งวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมาแล้ว


ศาล รธน.นัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษา และลงมติคดีนี้ไว้ในวันที่ 14 ส.ค. เวลา 15.00 น.


4 ประเด็นข้อโต้แย้งสู้คดี "ถอดถอนนายกฯ"


จากคำแถลงปิดคดี 32 หน้าของนายเศรษฐาที่ส่งให้ศาล รธน. ระบุ 4 ประเด็นสำคัญในการโต้แย้งคำร้อง ดังนี้


1. การอ้างพยานบุคคล 2 คน คือ นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ ผู้มีส่วนเสนอชื่อนายพิชิต และนายธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษานายกฯ ในประเด็นที่คดีพิชิตเกิดเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ซึ่งมีระยะเวลาเกิน 10 ปีมาแล้ว


2. การอ้างว่าการแต่งตั้งนายพิชิตไม่ได้มีเจตนาไม่สุจริต แต่เป็นการเพิ่มนักกฎหมายในคณะรัฐมนตรี ซึ่งยังขาดอยู่ และได้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจากสำนักเลขาธิการ ครม.มาแล้ว


3. การที่สำนักเลขา ครม.ชี้ว่า การพิจารณาความผิดจริยธรรมร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ ม.160 (4) (5) เป็นอำนาจของ ป.ป.ช. ใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งอาจทำให้ศาล รธน.ไม่รับคดีนี้ไว้วินิจฉัย และสำนักเลขา ครม.เองก็ได้ตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้จากการร้องเรียนแล้ว ไม่ได้เลือกปฏิบัติ


4. การแต่งตั้งนายพิชิตเป็นรัฐมนตรีมาจากดุลยพินิจและความต้องการของนายเศรษฐา ไม่ได้เป็นการรับคำสั่งจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ 


กระแสคาด "นายกฯเศรษฐา" น่าจะรอด


อย่างไรก็ตาม ก่อนถึงวันนัดอ่านคำวินิจฉัยของศาล รธน. ได้มีกระแสวิเคราะห์จากหลายฝ่ายสนับสนุนไปในทางว่า นายเศรษฐาน่าจะรอดไม่ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ไม่ว่าจะเป็นภาพที่นายเศรษฐาออกตารางเดินสายงานต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.เป็นต้นไป ซึ่งเป็นวันถัดจากศาล รธน.อ่านคำวินิจฉัย หรือการวิเคราะห์ของฝั่งพรรคเพื่อไทยว่า หากดูจากการลงมติของ 9 ตุลาการศาล รธน. ในประเด็นรับคำร้อง-ไม่ให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ มีตุลาการ 3 คนที่ลงคะแนนเป็นคุณกับนายเศรษฐา ดังนั้นเพียงแค่หาเสียงอีก 2 คนมาร่วมก็จะช่วยให้นายเศรษฐารอดคดีนี้ได้


ผลการวินิจฉัยของศาล รธน.ในคดีคุณสมบัตินายเศรษฐา จะเป็นอย่างไรต้องรอฟังคำตัดสินในวันที่ 14 ส.ค.67 นี้  ซึ่งจะออกมาได้เพียง 2 แนวทาง คือ ยกคำร้องให้นายเศรษฐาเป็นนายกฯ ต่อไป หรือให้นายเศรษฐาพ้นจากตำแหน่งนายกฯ และคณะรัฐมนตรีต้องสิ้นสภาพไปด้วย ก่อนจะต้องมีการเสนอชื่อคัดเลือกนายกฯ คนใหม่ ที่ต้องมาจากบัญชีแคนดิเดตของพรรคการเมืองที่ยื่นไว้เท่านั้น ท่ามกลางกระแสสัญญาณทางการเมืองก่อนวันนัดฟังคำตัดสินที่เริ่มออกมาให้นายเศรษฐามีโอกาสรอดสูง



ภาพ TNN 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง