รีเซต

รองปลัดสธ.'สะอื้น'กลางห้อง รับโควิดวิกฤต เตียงไม่พอ ขอบคุณอายุรแพทย์ จบใหม่ที่มาช่วย

รองปลัดสธ.'สะอื้น'กลางห้อง รับโควิดวิกฤต เตียงไม่พอ ขอบคุณอายุรแพทย์ จบใหม่ที่มาช่วย
มติชน
1 กรกฎาคม 2564 ( 20:15 )
44
รองปลัดสธ.'สะอื้น'กลางห้อง รับโควิดวิกฤต เตียงไม่พอ ขอบคุณอายุรแพทย์ จบใหม่ที่มาช่วย

 

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัด สธ. ร่วมในงานเปิดอบรมอายุรแพทย์จบใหม่ 4 สาขา ได้แก่ อายุรแพทย์ อายุรแพทย์โรคปอด อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ และเวชบำบัดวิกฤต ก่อนปฏิบัติงานในพื้นที่เขตสุขภาพ กรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลบุษราคัม เพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-19 โดยจะเริ่มปฏิบัติงานในวันนี้เป็นวันแรก

 

 

นพ.สุระ กล่าวว่า ปกติการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านที่จะสำเร็จการศึกษาจะต้องสอบกลางปี แต่ปีเนื่องจากมีการระบาดของโรคโควิด-19 และมีปัญหาเรื่องเตียงผู้ป่วยอาการหนัก (สีแดง) โดยเฉพาะไอซียูมีจำกัด ไม่สามารถรับผู้ป่วยสีแดงได้ ซึ่ง 4 หน่วยบริการ คือ รพ.รามาธิบดี วชิรพยาบาล รพ.ธรรมศาสตร์ และรพ.พลังแผ่นดิน ของมงกุฎวัฒนะ จะขอขยายเตียงไอซียู

 

 

จึงต้องการได้แพทย์และพยาบาลเพิ่มเติม ซึ่งแพทย์ที่จบเชี่ยวชาญ 4 สาขา มี อายุรแพทย์ อายุรแพทย์โรคปอด อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ และเวชบำบัดวิกฤต เป็นสาขาหลักที่ต้องทำงานในห้องผู้ป่วยวิกฤต จึงเชิญแพทย์ทั้ง 4 สาขา 144 คน มาประชุมชี้แจงว่าถึงการส่งเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ระบาดมากขึ้น

 

 

โดยแพทย์ที่อยู่ในสังกัดเขตสุขภาพที่ 4, 5, 6 และ 12 ก็ให้ปฏิบัติงานในพื้นที่ เพราะมีผู้ป่วยจำนวนมากเช่นกัน ดังนั้นจะเหลือแพทย์จำนวน 69 คนไปปฏิบัติงานยังห้องไอซียู 4 แห่งที่จัดตั้งขึ้นในกทม.

 

 

นพ.สุระ กล่าวว่า ส่วนกรณีการเพิ่มสัดส่วนพยาบาลนั้น ทางเขตสุขภาพต่างๆ ได้ส่งอัตรากำลังมาให้แล้ว ทางกองตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รับผิดชอบในการรวบรวมและจัดส่งพยาบาลไปไปช่วยในไอซียู 4 แห่งเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดจะมีการประเมินสถานการณ์ทุก 1 เดือน

เพราะสถานการณ์ในต่างจังหวัดหลังมีมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ของกทม.และปริมณฑล ทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในพื้นที่ต่างจังหวัดด้วย ต้องใช้บุคลากรดูแลเช่นกัน ดังนั้นในเดือนก.ค.นี้ หากพื้นที่ระบาดดีขึ้นก็จะมีการส่งแพทย์กลับคืนปฏิบัติงานในพื้นที่ของตนเองต่อไป

“แพทย์กลุ่มนี้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแล้ว และทางกระทรวงก็มีระบบในการช่วยเหลือดูแล มีค่าตอบแทน เงินช่วยเหลือต่างๆ ตามระเบียบ สำหรับแพทย์จะทำงานผลัดละ 8 ชั่วโมง โดย 7 วันทำงาน 5 ผลัด แต่ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ หากมีความจำเป็นต้องขอร้องคุณหมอให้ปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น นอกเวลาราชการ หากสถานการณ์ผู้ป่วยยังมีมาก ส่วนพยาบาลก็ต้องมาพิจารณาว่า อาจเป็น 1 คนดูแล 1 เตียงหรือ 2 เตียงต้องพิจารณา” นพ.สุระ กล่าว

เมื่อถามว่ามีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า แพทย์บางท่านไม่ได้อยากถูกส่งตัวมาปฏิบัติงานเช่นนี้ รองปลัด สธ. กล่าวว่า ได้มีการแจ้งเรียนคุณหมอให้ทราบข้อมูลข้อเท็จจริง เพราะเราไม่ได้อยากบังคับให้ทำงาน แต่เราเห็นปัญหาว่า ประเทศกำลังประสบภาวะวิกฤต หากเราไม่ช่วยเหลือผู้ป่วย หากควบคุมกทม.ไม่ได้ ก็จะกลับไปยังต่างจังหวัดเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ธงชัย ได้ให้ข้อมูลแก่แพทย์เฉพาะทาง 4 สาขา ถึงการปฏิบัติงานช่วยผู้ป่วยโควิดในภาวะวิกฤตพื้นที่กทม.และปริมณฑล โดยระหว่างนั้น นพ.ธงชัย กล่าวพร้อมเสียงสะอื้น ว่า อยากฝากพวกเราให้ดูแลผู้ป่วยดีที่สุด วันนี้ขาดแคลนจริงๆ ไอซียู เราไม่อยากให้ผู้ป่วยต้องรอ วันนี้ขอกราบขอบคุณน้องๆทุกคนที่ให้ความร่วมมือ หลายๆ คนอาจคิดว่า ทำไมต้องเป็นฉัน ต้องเป็นเรา จึงต้องขอความร่วมมือจริงๆ

ด้าน นพ.คมชาญ อุตมวาทิน อายุรแพทย์ทั่วไป รพ.อ่างทอง กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในแพทย์ที่ต้องใช้ทุน และได้รับภารกิจให้มาช่วยเหลือวิกฤตโควิดครั้งนี้ ซึ่งแพทย์ทุกคนก็ยินดีปฏิบัติ เพราะทุกคนล้วนเคยปฏิบัติหน้าที่และเข้าใจสถานการณ์

ยอมรับว่าภาระงานครั้งนี้หนักกว่าทุกครั้ง และยังมีผู้ป่วยอื่นที่ไม่ได้เป็นโควิดที่ต้องรับผิดชอบ แต่อยากให้ต้นสังกัดเร่งจัดหาวัคซีนเข็ม 3 ที่มีประสิทธิภาพมาฉีดให้กับแพทย์ที่ปฏิบัติงานหน้าด่านโดยเร็ว แม้ว่าขณะนี้จะได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้ว แต่แพทย์

พยาบาลส่วนใหญ่ก็ยังมีการติดเชื้อ การปฏิบัติหน้าที่ ทำให้แพทย์ พยาบาลทุกคนไม่กล้าไปเจอคนในครอบครัว เพราะกลัวว่าจะเป็นการนำเชื้อไปสู่ครอบครัว ทำให้หลังปฏิบัติหน้าที่แม้จะได้หยุดพักก็ไม่ได้กลับบ้าน ทั้งนี้อยากให้ต้นสังกัด

พิจารณาตามข้อเสนอแนะและข้อเรียกร้องของทั้งราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และ สมาคมโรคติดเชื้อฯ ที่จะเร่งจัดหาวัคซีน ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้แพทย์ พยาบาล โดยเร็ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง