IMF คาดอัตราดอกเบี้ยจะลดลง แตะระดับก่อนวิกฤตโควิด
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยในเขตเศรษฐกิจหลักน่าจะลดลงแตะระดับก่อนวิกฤตโควิด เนื่องจากขีดความสามารถในการผลิตที่ลดลง และประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น
IMF ระบุว่า ต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว หากเงินเฟ้ออยู่ภายใต้การควบคุม ธนาคารกลางของประเทศพัฒนาแล้วก็มีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงิน และทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงกลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิด
อย่างไรก็ตาม IMF ไม่ได้ระบุแน่ชัดว่า เมื่อใดที่อัตราดอกเบี้ยจะกลับไปสู่ระดับที่ต่ำเท่ากับก่อนวิกฤตโควิด
กรณีของธนาคารกลางอังกฤษที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนับตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2564 จากร้อยละ 0.1 สู่ระดับร้อยละ 4.25 ซึ่งทำให้การจ่ายสินเชื่อจดจำนองเพิ่มขึ้นสำหรับผู้กู้ซื้อบ้าน
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อในอังกฤษแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี เนื่องจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนอาหารที่สูงขึ้น ซึ่งมีหลายปัจจัยที่กระตุ้นอัตราเงินเฟ้อให้พุ่งสูง รวมถึงปฏิบัติการทางทหารระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ดันต้นทุนพลังงานให้สูงขึ้น
ธนาคารกลางในประเทศต่าง ๆ ทั้งอังกฤษ สหรัฐฯ ยุโรป และประเทศอื่น ๆ ต่างก็ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
ขณะที่ประชากรสูงอายุจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีแนวโน้มที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง ซึ่ง “จอร์จ ก็อดเบอร์” ผู้จัดการกองทุนของโพลาร์ แคปิตอล อธิบายว่า ประชากรสูงอายุมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายน้อยลง บริโภคลดลง ทำให้ภาวะเงินเฟ้อชะลอลง (disinflationary)
เช่นเดียวกับขีดความสามารถในการผลิตที่ลดลง ซึ่งเป็นมาตรวัดจำนวนสินค้าและบริการที่ผลิตได้ จะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง
ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE
ที่มาภาพ : TNN