Cake มอเตอร์ไซค์พลังงานไฟฟ้าใช้แผงตัวถังรถจากเส้นใยธรรมชาติแทนพลาสติก
มอเตอร์ไซค์พลังงานไฟฟ้าอาจยังไม่เพียงพอสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรักษาสภาพแวดล้อม ล่าสุดบริษัท Cake ผู้พัฒนารถมอเตอร์ไซค์พลังงานไฟฟ้าในประเทศสวีเดนประกาศความร่วมมือกับบริษัท PaperShell เพื่อนำเส้นใยธรรมชาติที่มีความทนทานสูงมาใช้งานแทนพลาสติก
ก่อนหน้านี้บริษัท Cake ได้พัฒนามอเตอร์ไซค์พลังงานไฟฟ้าในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อใช้งานในลักษณะแตกต่างกัน เช่น สำหรับใช้งานในเมืองเดินทางในระยะใกล้และสำหรับใช้งานเพื่อการท่องเที่ยวในลักษณะของมอเตอร์ไซค์วิบาก (Dirt Bike) โดยใช้คุณสมบัติเด่นของตัวรถที่สามารถถอดประกอบได้และมีความแข็งแรงทนทาน
สำหรับบริษัท PaperShell บริษัทผู้เชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาวัสดุคอมโพสิตจากเส้นใหญ่ธรรมชาติ บริษัทยืนยันว่าโครงสร้างมีความแข็งแกร่งมากกว่าพลาสติกในขณะเดียวกันสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเปรียบเทียบว่าวัสดุพอลิโพรไพลีน (Polypropylene) 4.95 กิโลกรัม ต่อคาร์บอน 1 กิโลกรัม ไฟเบอร์กลาส (Fiberglass) 25.05 กิโลกรัม ต่อคาร์บอน 1 กิโลกรัม ในขณะที่วัสดุคอมโพสิตจากเส้นใหญ่ธรรมชาติมีค่า 0.65 กิโลกรัม ต่อคาร์บอน 1 กิโลกรัม
สถานะปัจจุบันของโครงการความร่วมมือดังกล่าวยังอยู่ในช่วงของการวิจัยพัฒนาร่วมกันระหว่าง 2 บริษัท โดย Stefan Ytterborn ซีอีโอของบริษัทให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าบริษัทกำลังแสวงหาหนทางใหม่ในการใช้วัสดุเพื่อผลิตมอเตอร์ไซค์พลังงานไฟฟ้าร่วมกับบริษัท PaperShell ซึ่งในอนาคตอาจมีการใช้พลาสติกเป็นชิ้นส่วนของตัวรถน้อยลงมากขึ้นจนไม่มีการใช้พลาสติกเลยและโครงการความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมทั้งหมด
นับเป็นอีกครั้งของความพยายามพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวข้ามความเป็นรถพลังงานไฟฟ้าไปสู่การเป็นเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงทั้งในส่วนของโครงสร้างตัวรถและพลังงานสะอาดที่ใช้ในระบบขับเคลื่อนที่ทันสมัย
ที่มาของข้อมูล papershell.se
ที่มาของรูปภาพ ridecake.com