ญี่ปุ่นเตรียมทดสอบใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากอวกาศภายในปี 2025
องค์การอวกาศญี่ปุ่นหรือ JAXA เตรียมทดสอบใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากอวกาศภายในปี 2025 หลังจากประสบความสำเร็จทดสอบส่งพลังงานแสงอาทิตย์จากอวกาศได้ในปี 2015 เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่สำคัญในอนาคต เนื่องจากข้อดีของการอยู่บนอวกาศทำให้แผงโซลาร์เซลล์สามารถรับแสงอาทิตย์ได้เต็มที่โดยไม่โดนผลกระทบจากเมฆหรือทิศทางตำแหน่งการหมุนของโลก
สำนักข่าวนิกเคอิ ประเทศญี่ปุ่น รายงานความพยายามของประเทศญี่ปุ่นเตรียมทดสอบใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากอวกาศภายในปี 2025 โดยมีศาสตราจารย์ นาโอกิ ชิโนฮารา (Naoki Shinohara) มหาวิทยาลัยโตเกียวที่ได้ทำงานศึกษาวิจัยเทคโนโลยีการส่งพลังงานแสงอาทิตย์จากอวกาศมาตั้งแต่ปี 2009 อย่างไรก็ตามรัฐบาลยังไม่เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการก่อสร้าง ขนาดและกำลังการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่จะใช้งานในปี 2025 อย่างเป็นทางการ
ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2009 รัฐบาลญี่ปุ่นได้มอบทุนการศึกษาวิจัยให้กับองค์การสำรวจอวกาศของญี่ปุ่น และคณะวิจัยของศาสตราจารย์ นาโอกิ ชิโนฮาราและบริษัทเอกชนเป็นโครงการมูลค่ารวมกันกว่า 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7 แสนล้านบาท เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งอื่น ๆ นอกโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแหล่งพลังงานทดแทนที่ยั่งยืนให้กับประเทศญี่ปุ่นในอีก 20 ปีข้างหน้า
สำหรับการทดลองในช่วงแรกเกิดขึ้นในปี 2015 ใช้ดาวเทียมขนาดเล็กโคจรรอบโลกเพื่อรับพลังงานแสงอาทิตย์และส่งกลับมายังโลกโดยใช้คลื่นไมโครเวฟ ก่อนเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าที่เครื่องรับบนโลกและสร้างพลังงานไฟฟ้า 1.8 กิโลวัตต์ เพียงพอที่จะใช้กับเครื่องไฟฟ้าขนาดเล็ก เช่น หม้อหุงข้าวและกาต้มน้ำไฟฟ้า
ข้อดีของการใช้แผงโซลาร์เซลล์บนอวกาศอีกประเด็นที่สำคัญคือสามารถก่อสร้างแผงโซลาร์เซลล์ให้มีขนาดใหญ่โดยเกือบไม่จำกัดเนื่องจากพื้นที่ของอวกาศมีขนาดกว้างใหญ่ อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์ประมาณการว่าหากต้องการผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้ 1 กิกะวัตต์ หรือเท่ากับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 1 เครื่องบนโลก ด้วยวิธีการใช้แผงโซลาร์เซลล์บนอวกาศจำเป็นต้องใช้งบประมาณกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 243,000 ล้านบาท
สำหรับเทคโนโลยีการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์บนอวกาศ นอกจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว ยังมีประเทศสหรัฐอเมริกาและจีนให้ความสนใจพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นอย่างมาก โดยมีการเริ่มต้นศึกษาวิจัยในช่วงปี 1968 อย่างไรก็ตามด้วยเทคโนโลยีอวกาศในยุคนั้นยังไม่ก้าวหน้ามากนักทำให้การพัฒนามีความล่าช้า ประกอบกับการใช้แหล่งพลังงานอื่นบนโลกเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้านั้นสามารถทำได้ง่ายและใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่า
ที่มาของข้อมูล Engadget
ที่มาของรูปภาพ U-tokyo.ac.jp