ทั่วโลกจับตา สหรัฐฯ - จีน ใช้ไทยเวทีหารือทวิภาคีกระชับสัมพันธ์
วานนี้ (26 ม.ค. 67) นายเจก ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา เดินทางเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 25-27 มกราคม เพื่อยืนยันความสำคัญของความเป็นพันธมิตรทางสนธิสัญญาและความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับไทย ตลอดจนหารือเกี่ยวกับโอกาสในการเสริมสร้างความร่วมมือในประเด็นต่าง ๆ ในระดับทวิภาคีและระดับโลก
โอกาสนี้ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล และเข้าพบหารือกับนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่กระทรวงการต่างประเทศ พร้อมกับหารือร่วมกัน โดยย้ำถึงความเป็นพันธมิตรระหว่างทั้งสองประเทศที่มีมายาวนาน พร้อมหารือถึงแนวทางในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งในระดับทวิภาคีและภูมิภาค อาทิ ความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคง ด้านไซเบอร์และเทคโนโลยีอุบัติใหม่ การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และการส่งเสริมการค้าและการลงทุน
นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคต่าง ๆ รวมทั้งสถานการณ์ในยูเครน และตะวันออกกลาง ตลอดจสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งไทยได้แจ้งเกี่ยวกับข้อริเริ่มด้านความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมา สอดคล้องกับฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนด้วย
ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายยืนยันเจตนารมณ์ที่จะเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมถึงผ่านการส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์ในระดับสูง และการจัดการประชุม “ไทยแลนด์- ยูเอส สะทระที'จิค แอนด์ ดีเฟนซ์ ไออะล็อก” Thailand-U.S. Strategic and Defense Dialogue ซึ่งฝ่ายไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2024
โอกาสนี้ นายเจค ซัลลิแวน จะพบกับนายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ระหว่างการเดินเยือนไทยเช่นกัน โดยทั้งสองฝ่ายจะใช้ประเทศไทยเป็นเวทีในการพูดคุยกัน ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะต่อยอดความมุ่งมั่นของทั้งสองฝ่ายจากการประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดีไบเดน และประธานาธิบดีสี ณ เมืองวูดไซด์ ในเดือนพฤศจิกายน 2566 เพื่อรักษาช่องทางการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์และจัดการความสัมพันธ์อย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งการพบกันของทั้งสองฝ่าย ไม่ได้เปิดโอกาสให้นักข่าวเข้ารายงานการพบกันครั้งนี้
นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยยินดีที่จะเป็นสถานที่ที่ทั้งสองฝ่ายเลือกที่จะจัดการหารือ อย่างไรก็ตาม การหารือดังกล่าวเกิดขึ้นจากการพูดคุยทวิภาคีของทั้งสองฝ่าย ซึ่งไทยไม่ได้มีบทบาทหรือมีส่วนทำให้เกิดการหารือดังกล่าวขึ้น ทั้งนี้ ไทยมั่นใจว่าการพูดคุยของทั้งสองฝ่ายจะส่งผลให้เกิดความสงบ ความมั่นคง และการพัฒนาของประเทศในภูมิภาครวมถึงในเวทีโลกอีกด้วย
ภาพจาก: ทำเนียบรัฐบาล