รีเซต

ไปต่ออย่างไร ? เมื่อ AI 2024 ยังเก่งไม่รู้จบ I TNN Tech Reports

ไปต่ออย่างไร ? เมื่อ AI 2024 ยังเก่งไม่รู้จบ I TNN Tech Reports
TNN ช่อง16
25 มกราคม 2567 ( 15:33 )
30
ไปต่ออย่างไร ? เมื่อ AI 2024 ยังเก่งไม่รู้จบ I TNN Tech Reports



ถ้าจะบอกว่าปี 2023 เป็นยุคที่ผู้คนตื่นตัวกับเทคโนโลยีเอไอ ก็คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เพราะปีที่ผ่านมา เราได้เห็นความสามารถมากมาย ที่เกิดขึ้นจากความฉลาดของ Artificial intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์ ในการประมวลผล ตรวจจับ และน่าทึ่งด้วยศักยภาพหลายด้านที่ทำได้ดีกว่ามนุษย์ เช่น การทำงานซ้ำ ๆ ไปมา  ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว แพตเทิร์นหรือการระบุรูปแบบ ไม่มีอคติ และทำงานได้แบบไม่ต้องหยุดพัก โดยเฉพาะการเข้ามาของ Generative AI ทำให้หลายคนออกมากังวลถึงความสามารถของมัน 


โดย รศ.ดร. อรรถพล ธำรงรัตนฤทธิ์ อาจารย์ภาคภาษาศาสตร์ และสาขาภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความเห็นกับ TNN Tech ว่า Generative AI คือ AI ที่สามารถสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมาได้ไม่ว่าจะเป็นภาพ เป็นเสียง เป็นวิดีโอ เป็นเพลง เป็นข้อความต่าง ๆ มันเหมือนกับว่าเป็นความสามารถของคน ที่สามารถฟังอะไรเข้าใจแล้วพูดตอบโต้กลับมาได้ มันคือเป็นฟังก์ชันที่เรานึกว่า อะไรที่ต้องใช้บริบทเยอะ ๆ อะไรที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ จะต้องเป็นงานของ “คน” เสมอ อันนี้เป็นสิ่งที่เราเคยคิด


ซึ่ง 2023 นี้ความคิดเหล่านั้นเริ่มจริง “น้อยลง” ไปทุกที เลยทำให้หลายๆ คนกังวล 


“ผมเองในฐานะนักวิจัยก็คิดเหมือนกันว่ามันกระโดดเร็วเหมือนกัน ทำให้เทคโนโลยีตัวนี้เอาออกไปใช้ ในรูปแบบอื่น ๆ ได้เยอะมาก ๆ เหมือนเป็นสมองอันหนึ่งที่สามารถเป็นนักธุรกิจก็ได้ เป็นนักแต่งนิยายก็ได้ เป็นช่างภาพก็ได้ คือโมเดลอันเดียวทำได้หลาย ๆ อย่างซึ่งตอนนี้มันจริงเร็วกว่าหลาย ๆ คนคิดอยู่เหมือนกัน” รศ.ดร. อรรถพล กล่าวทิ้งท้าย 


AI กำลังแย่งงานคน ? ครองโลกจริงหรือ ? 


ก่อนหน้านี้ Geoffrey Hinton เคยให้สัมภาษณ์หลังลาออกจากกูเกิลว่า AI จะเป็นภัยคุกคามของมนุษยชาติ รวมถึง อีลอน มัสก์ เจ้าพ่อเทคโนโลยี ก็แสดงความกังวลต่อเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งปัจจุบันก็มีหลายงานถูกแทนที่ด้วย AI ไปแล้ว 


แต่ในมุมมมองของ รศ.ดร. อรรถพล มองว่า สิ่งนี้ถูกพูดถึงนลอย ๆ มานานแล้ว ซึ่งปัจจุบัน AI ก็ยังไม่ครองโลก ยังเป็นคนที่ครองโลกเหมือนเดิม แต่หากถูกถึงในอีก 50 ปี 100 ปี ข้างหน้า ก็เป็นไปได้ว่ามันจะมีความสามารถที่จะมีจิตสำนึกขึ้นมาจริง ๆ สามารถตัดสินใจอะไรต่าง ๆ ได้ สามารถคิดความรู้ขึ้นมาต่าง ๆ ได้ ซึ่งเรื่องน่าจะยังอยู่อีกยาวไกล 


อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ AI เท่านั้น แต่ก็เคยมีเทคโนโลยีหลายอย่างได้แทนที่คนไปเยอะแล้ว โดยที่เราแทบไม่สังเกตด้วยซ้ำ เช่น Wi-fi หรือ Internet ก็ได้ทำให้หลายงานในอดีตหายไป ซึ่งตอนนี้ AI ก็ได้ทำให้งานบางอาชีพหายไปแล้ว เช่น การพิสูจน์อักษรหรือการตรวจแก้ภาษาต่าง ๆ  


คนไทยนำ AI มาใช้มากน้อยแค่ไหน ? 


รายงานจาก Harvard business review นิตยาสารข้อมูลเชิงลึกชื่อดัง คาดการณ์ว่า AI จะเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจโลกได้มากถึง 15.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 550 ล้านล้านบาทภายในปี 2030 จึงทำให้หลายองค์กรทั่วโลกเริ่มนำระบบการทำงานแบบอัติโนมัติ มาใช้มากขึ้น 


ขณะที่ประเทศไทย รศ.ดร. อรรถพล แสดงความเห็นว่า ยังมีการใช้งานเทคโนโลยีนี้ค่อนข้างน้อย เนื่องจากยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และยังขาดองค์ความรู้ในเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ 


ที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทยอาจจะเห็นการเอา AI มาใช้แก้ปัญหาของเมือง การทำให้ระบบเลื่อนไหล การใช้ AI กับอาคารหรือตึกต่าง ๆ ซึ่งระบบเหล่านี้ส่วนใหญ่จะจำกัดการใช้ไว้ที่บริษัทขนาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อ แต่ในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก ไปจนถึง SME ยังเอา AI มาใช้ค่อนข้างน้อย ในการสร้างความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่ง 


ทิศทางของ AI ในปี 2024 


เทรนด์การเติบโต AI ณ ตอนนี้ ยังคงเน้นไปที่ Generative AI ซึ่งไม่ได้วัดผลจากการที่ถูกพูดถึงบ่อย ๆ แต่วัดผลจากการเอามาใช้งานมากขึ้น โดยหลังจากมันจะเข้ามาอยู่ในบริบทเกี่ยวกับคนใช้มากขึ้น จนทำให้สินค้าที่สร้างออกมามันเหมาะสมกับแต่ละบุคคล หรือ Personalized รวมถึงงานประเภทการใช้ความคิดสร้างสรรค์ จะทำให้งานออกมาง่ายและใช้เวลาน้อยลงมาก 


เดินหน้าต่ออย่างไร ? เมื่อ AI 2024 ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น 


ทั้งนี้ รศ.ดร. อรรถพล กล่าวถึงการปรับตัวหลังจากนี้ จะต้องยกระดับทักษะต่าง ๆ ให้มากกว่านี้ เพราะหากอาศัยแค่ประสบการณ์ก็น่าจะไม่เพียงพอสำหรับการอยู่รอดในยุคทองของ AI 


นอกจากนี้จะปลูกฝั่งองค์ความรู้เกี่ยวกับ AI ตั้งแต่วัยเด็ก เพราะหลังจากนี้มันจะถูกนำมาบูรณาการมากขึ้น รวมถึงต้องแยกแยะให้ได้ ว่าเมื่อใดที่ต้องใช้ AI หรือเมื่อใดที่ควรใช้ 


ยกตัวอย่างการปรับตัวในบางอาชีพ 


ตัวอย่างอาชีพที่หลายคนออกมาแสดงความกังวลก่อนหน้านี้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของเอไอ เช่น โปรแกรมเมอร์ คนเขียนโค้ด ภาษาคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เพราะเอไอสามารถเนรมิตออกมาได้ในเวลาที่รวดเร็วและแม่นยำ


แต่ รศ.ดร.อรรถพล กลับมองว่าเป็นการกระตุ้นวงการนี้ เพราะ AI จะกลายมาเป็นเครื่องมือช่วยเขียนโปรแกรมได้ง่ายขึ้น ในมุมของโปรแกรมเมอร์ ไม่มีใครกังวลแต่กลับชื่นชอบด้วยซ้ำ เพราะคนจะได้ขยับขึ้นไปทำงานที่เลเวลสูงกว่านี้ ไม่ต้องมานั่งโค๊ดแบบปุ่มกดทีละปุ่ม ตัวอักษรทีละตัวอักษร นอกจากนี้ จะกลายเป็นตัวจุดประกายที่ทำให้โลกของเทคโนโลยีเดินหน้าไปเร็วขึ้น 


“คีย์เวิร์ดอยู่ที่ว่าผู้ช่วยเนอะไม่ใช่มาแทน ณ ตอนนี้ยังไม่แทนจริง ๆ ก็คือมาช่วยเรา” 


เช่นเดียวกับอาชีพครูหรืออาจารย์ ที่จะต้องเผชิญกับความก้าวหน้าทั้งเทคโนโลยีและความคิดของนักเรียน นิสิต นักศึกษา นำเอไอมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ อาชีพนี้จะต้องปรับตัว ทำความรู้จักกับเครื่องมือเหล่านี้ ไปจนถึงการเปลี่ยนวิธีวัดผล เพื่อให้ผู้เรียนได้นำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง 


รศ.ดร.อรรถพล กล่าวทิ้งท้ายว่า “แต่ก่อนผมพูดเรื่องนี้ตลอดเลย เรื่อง AI ไปพูดมาหลายที่มาก ก็พูดได้ ไม่เคยมั่นใจได้เท่านี้ว่ามันจะเข้ามาอยู่ได้งานของทุกทีมได้จริงๆ แต่ก่อนผมพูดว่าทุกทีมอย่างนี้ไม่ได้ ตอนนี้พอมี generative AI เข้ามาผมพูดได้จริงๆ ว่าทุกทีมทุกแผนกที่อยู่ในบริษัทนี้สามารถนำ generative AI มาใช้ได้” 


โดยสรุปแล้ว เทคโนโลยีอัจฉริยะ AI ยังคงเดินหน้าต่อในปี 2024 โดยจะเข้าไปผสานอยู่ในการใช้ชีวิตประจำวันเกือบจะทุกส่วนทุกมุม และเข้มข้นกว่าในปี 2023


แม้ว่าทั่วโลกจะเริ่มมีการวางกฎระเบียบเกี่ยวกับการใช้เอไอ เพื่อความสมดุลระหว่างเทคโนโลยีและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในสังคม แต่เราในฐานะผู้ใช้ผู้บริโภค ก็ต้องฝึกฝน เสริมทักษะ เติมความรู้ ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะบนความเข้าใจมาสร้างโอกาส เสริมคุณภาพชีวิตต่อไปในอนาคต 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง