รีเซต

ศปช. เตรียมรับมือน้ำทะเลหนุน สั่งบริหารการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา

ศปช. เตรียมรับมือน้ำทะเลหนุน สั่งบริหารการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา
TNN ช่อง16
10 ตุลาคม 2567 ( 13:49 )
17

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) และ ศปช. ส่วนหน้า เปิดเผยว่าตามที่ได้ประกาศแจ้งเตือนให้พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงวันที่ 13-24 ต.ค.67 ประกอบกับปัจจุบันพื้นที่ลุ่มต่ำ และพื้นที่นอกคันกั้นน้ำเริ่มได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาที่ระดับ 2,200 ลบ.ม./วินาที ทำให้เกิดความกังวลว่าในช่วงน้ำทะเลหนุน จะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยานั้น

 

ในที่ประชุม ศปช. ได้เน้นย้ำให้ กรมชลประทาน ร่วมกับ สทนช. วางแผนบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเริ่มชะลอตัวลง นำไปสู่การปรับลดการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่เมื่อช่วงเย็นวันนี้ และในวันนี้ 15.00 น. จะมีการปรับลดการระบายน้ำลงอีกเหลือที่ระดับ 2,100 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะช่วยลดระดับน้ำที่เข้าท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ริมคลองบางบาล โผงเผง แม่น้ำน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และลดความเสี่ยงของพื้นที่นอกคันกั้นน้ำในพื้นที่ จ.นนทบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร

 

นายจิรายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการติดตามการคาดการณ์ฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าขณะนี้มีพื้นที่ 16 จังหวัดทางภาคตะวันตกและภาคใต้ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง ได้แก่ ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งในพื้นที่ 16 จังหวัดข้างต้น ได้มีการเตรียมเครื่องสูบน้ำ 552 เครื่องเข้าไปเตรียมความพร้อมจุดเสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก พร้อมเตรียมเครื่องจักร เครื่องผลักดันน้ำ รวม 1,100 หน่วย พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนทันที 


นอกจากนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เตรียมตั้งศูนย์ส่วนหน้าในภาคใต้เพื่อดำเนินงานเชิงรุก ทั้งคาดการณ์สถานการณ์และแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในภาคใต้ รวมทั้งได้มีการเร่งระบายน้ำจากเขื่อนที่มีปริมาณน้ำมากในระยะที่ยังไม่ได้ฝนตกหนักมากนัก โดยต้องไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำด้วย



ภาพจาก กรมชลประทาน

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง