รีเซต

นักวิจัยชี้ "ไวรัสเห็บ" ระบาดในจีน ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่

นักวิจัยชี้ "ไวรัสเห็บ" ระบาดในจีน ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่
TNN ช่อง16
9 สิงหาคม 2563 ( 15:17 )
300
1
นักวิจัยชี้ "ไวรัสเห็บ" ระบาดในจีน ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่

วันนี้( 9 ส.ค.63) ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้ให้ข้อมูลผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก Virology and Cell Technology Lab – BIOTEC เกี่ยวกับโรค “SFTS” โรคร้ายจากไวรัส (ตัวใหม่?) ในจีน โดยระบุข้อความว่า

“ในขณะที่ทั้งโลกกำลังวุ่นอยู่กับการหาวิธีรับมือการระบาดของโรค COVID-19 ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาที่มณฑลเจียงซู และ อันฮุย ทางตะวันออกของประเทศจีน ได้มีการรายงานของโรคระบาดอีกชนิดหนึ่ง ที่มีผู้ป่วยติดไปมากกว่า 60 ราย และ มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 7 ราย โดยโรคดังกล่าวมีชื่อยาวๆว่า Severe Fever with Thrombocytopenia Syndrome หรือ เรียกย่อๆว่า SFTS

โรค SFTS เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสในตระกูล Bunyavirus ซึ่งมีเห็บเป็นพาหะ ชื่อของไวรัสแบบเป็นทางการยังไม่มี เลยใช้ว่า SFTS virus (SFTSV) ไปก่อน โดยไวรัสในตระกูลนี้มีสารพันธุกรรมเป็น RNA สายลบ สามเส้นเป็นวงขนาดแตกต่างกันไป เส้นยาวสุด (Large) ขนาดยาว 6,368 เบส ทำหน้าที่สร้างเอนไซม์ที่ไวรัสใช้เพิ่มจำนวนสารพันธุกรรม เส้นที่สอง (Medium) ยาว 3,378 เบส ทำหน้าที่สร้างโปรตีนบนเปลือกไวรัส ใช้เข้าสู่เซลล์ และ เส้นที่สาม (Small) ยาว 1,744 เบส สร้างโปรตีนนิวคลีโอแคปซิด และ โปรตีนอื่นๆที่ช่วยให้ไวรัสเพิ่มปริมาณได้

ด้วยคุณสมบัติของสารพันธุกรรมที่แยกเป็นเส้นๆดังกล่าว ปรากฏการณ์ที่ไวรัสชนิดนี้จะแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมกันในเซลล์เจ้าบ้าน ถ้าไวรัสมากกว่า 1 ชนิด ติดเข้าสู่เซลล์เดียวกันแล้วเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ (Reassortant) จึงเกิดขึ้นได้ คล้ายๆกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่เกิดสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ไวรัสชนิดนี้จริงๆแล้วไม่ใช่ไวรัสใหม่ นักวิจัยจีนได้พบไวรัสชนิดนี้มามากกว่า 10 ปีแล้ว เพียงแต่ว่าไวรัสดังกล่าวไม่ได้ก่อเกิดโรคในคนมากเท่านี้มาก่อน มีเพียงผู้ป่วย 1-2 คนเท่านั้น  การเกิดระบาดในคนมากกว่า 60 คน และ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 10% จึงเป็นเรื่องที่สร้างความตื่นตระหนกสำหรับนักไวรัสหลายท่าน ว่าเกิดอะไรขึ้นกับไวรัสชนิดนี้?

ผู้ป่วย SFTS จะมีไข้สูง อ่อนเพลีย เกล็ดเลือดและเม็ดเลือดขาวจะลดลง ผู้ป่วยที่อาการหนักจะพบการเลือดออกคล้ายไข้เลือดออก อวัยวะต่างๆทำงานผิดปกติ และ อาการผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง ปัจจุบันไวรัสชนิดนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่มียาต้านไวรัส ชื่อว่า Ribavirin ที่มีข้อมูลว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาได้ เนื่องจากไวรัสชนิดนี้เชื่อว่าแพร่สู่คนโดยเห็บเป็นพาหะสำคัญ หลักฐานการแพร่กระจายจากคนสู่คนที่มีอยู่ในปัจจุบันบ่งชี้ว่า อาจจะเกิดขึ้นได้แต่เชื่อว่าคงจะไม่แพร่อย่างรวดเร็วเหมือน COVID-19 เพราะแพร่ทางการสัมผัสเลือดที่ติดเชื้อ ไม่ใช่ทางเดินหายใจ แต่ด้วยอัตราการตายที่สูงแบบไม่ปกติ คงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ในจีนต่อไปว่าเคสจะสูงขึ้นไปมากกว่านี้หรือไม่...”



เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง