รีเซต

พลังงานหมุนเวียนเสี่ยงพัง โลกร้อนอาจทำให้ ไฟฟ้าขาดแคลนมหาศาล

พลังงานหมุนเวียนเสี่ยงพัง  โลกร้อนอาจทำให้ ไฟฟ้าขาดแคลนมหาศาล
TNN ช่อง16
1 เมษายน 2568 ( 09:30 )
6

การแข่งขันสู่พลังงานหมุนเวียนกำลังเร่งตัวขึ้น ท่ามกลางวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น ทั่วโลกมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในทะเลทราย กังหันลมบนชายฝั่ง และเขื่อนพลังน้ำที่ผลิตไฟฟ้าสะอาดมากขึ้น แต่แม้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนจะถูกลงและความต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเพิ่มขึ้น ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า แหล่งพลังงานเหล่านี้ต้องพึ่งพาสภาพอากาศ ซึ่งกำลังถูกกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ปี 2023 สภาพอากาศที่ผันผวนสร้างความท้าทายต่อการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลก อุณหภูมิสูงขึ้น 1.45°C จากระดับก่อนอุตสาหกรรม การเปลี่ยนจากปรากฏการณ์ลานีญาเป็นเอลนีโญส่งผลต่อปริมาณน้ำฝน ทิศทางลม และรังสีแสงอาทิตย์


ฮามิด บัสตานี ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและภูมิอากาศจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ยกตัวอย่างว่า ในซูดานและนามิเบีย ผลิตพลังงานน้ำลดลงกว่า 50% เนื่องจากฝนตกน้อยผิดปกติ โดยซูดานมีปริมาณน้ำฝนเพียง 100 มิลลิเมตรในปี 2023 หรือไม่ถึงครึ่งของค่าเฉลี่ยระยะยาว ส่งผลกระทบอย่างมาก เพราะพลังงานน้ำคิดเป็น 60% ของพลังงานไฟฟ้าของประเทศ

 
 จีน ซึ่งมีพลังงานลมบนบกมากที่สุดในโลกถึง 40% พบว่าผลผลิตเพิ่มขึ้นเพียง 4-8% เนื่องจากทิศทางลมเปลี่ยนแปลง อินเดียมีกำลังผลิตลดลงจากมรสุมที่อ่อนกำลังลง ส่วนบางพื้นที่ในแอฟริกา การผลิตไฟฟ้าจากลมลดลงถึง 20-30%

 

ขณะที่พลังแสงอาทิตย์กลับได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

เพราะในอเมริกาใต้ ประเทศอย่างบราซิล โคลอมเบีย และโบลิเวียได้รับพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้น 4-6% จากท้องฟ้าที่ปลอดโปร่งขึ้น คิดเป็นไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 3 เทราวัตต์-ชั่วโมง หรือพอสำหรับบ้าน 2 ล้านหลังต่อปี

 

โรเบอร์ตา บอสโคโล ผู้เชี่ยวชาญจาก WMO เตือนว่า โครงสร้างพื้นฐานของพลังงานหมุนเวียนถูกออกแบบจากข้อมูลภูมิอากาศในอดีต แต่ปัจจุบันสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เขื่อนพลังน้ำต้องพึ่งพาน้ำจากการละลายของหิมะและธารน้ำแข็ง บอสโคโลระบุว่า “ในระยะสั้น พลังน้ำอาจเพิ่มขึ้นจากธารน้ำแข็งละลาย แต่เมื่อธารน้ำแข็งหมด น้ำก็หมดไป และนั่นเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้” ปัญหานี้เริ่มเห็นได้แล้วในเทือกเขาแอนดีสและหิมาลัย

 
 รายงานจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ชี้ว่า น้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นและพายุรุนแรงขึ้นเสี่ยงต่อโรงไฟฟ้า รวมถึงฟาร์มแสงอาทิตย์ที่อยู่ใกล้ชายฝั่ง นอกจากนี้ ไฟป่าที่เกิดบ่อยขึ้นอาจทำลายสายส่งไฟฟ้า และคลื่นความร้อนสามารถลดประสิทธิภาพของแผงโซลาร์เซลล์

พลังงานแห่งอนาคตต้องใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีเป็นตัวช่วย

โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ในอนาคต พลังงานไฟฟ้าจะเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคม การปรุงอาหาร หรือการทำความร้อน “ถ้าเรามีระบบไฟฟ้าที่ไม่น่าเชื่อถือ ทุกอย่างจะพังลง”

 

เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ วงการพลังงานต้องใช้สิ่งที่เรียกว่า "Climate Intelligence" หรือการบูรณาการข้อมูลภูมิอากาศเข้าสู่การวางแผนพลังงาน ในอดีต นักวางแผนพลังงานใช้ค่าเฉลี่ยทางประวัติศาสตร์ แต่ตอนนี้เราไม่สามารถพึ่งพาอดีตได้อีกต่อไป เราต้องรู้ว่าลมจะเป็นอย่างไรในฤดูกาลหน้า ปริมาณน้ำฝนปีหน้าจะเป็นอย่างไร 

 

การใช้พยากรณ์ภูมิอากาศในการบริหารจัดการพลังงานถือว่าเป็นเรื่องจำเป็น

ยกตัวอย่างเช่น ในชิลี พลังงานน้ำเพิ่มขึ้น 80% ในเดือนพฤศจิกายน 2023 เพราะฝนตกมากผิดปกติ หากมีระบบพยากรณ์ที่แม่นยำ โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำจะสามารถจัดการปริมาณน้ำในเขื่อนได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ คนงานในฟาร์มกังหันลมสามารถใช้ข้อมูลลมเพื่อวางแผนบำรุงรักษาอุปกรณ์ในช่วงที่ลมอ่อน เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียพลังงาน ขณะที่ผู้ดูแลโครงข่ายไฟฟ้าสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงคลื่นความร้อนหรือภัยแล้ง

 

ปี 2023 แสดงให้เห็นว่าพลังงานหมุนเวียนมีความเปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น การนำข้อมูลภูมิอากาศ เทคโนโลยี และ AI มาใช้ในการวางแผนพลังงานจึงเป็นกุญแจสำคัญเพื่อให้ระบบไฟฟ้ามีเสถียรภาพในอนาคต

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง