จีนเลี้ยงปลาบนอวกาศศึกษาการเติบโตสัตว์มีกระดูกสันหลังในสภาวะไร้น้ำหนัก
นักบินอวกาศจีน ทดลองเพาะเลี้ยงปลาเซบราฟิชจำนวน 4 ตัว บนสถานีอวกาศเทียนกง โดยในขณะนี้ปลามีอายุได้ประมาณ 1 เดือน จุดประสงค์การทดลองเพื่อศึกษาการเติบโตของสัตว์มีกระดูกสันหลัง และการสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืนด้วยตัวเองในสภาวะไร้น้ำหนักบนอวกาศ รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้นักบินอวกาศอยู่อาศัยบนอวกาศได้ยาวนานขึ้น
สำหรับสาเหตุที่นักวิทยาศาสตร์จีนเลือกปลาเซบราฟิชเป็นสัตว์ทดลอง เนื่องจากมีลักษณะหลายอย่างคล้ายมนุษย์ แม้ว่าปลาจะอยู่อาศัยในน้ำ เช่น การแบ่งเซลล์ของตัวอ่อนคล้ายตัวอ่อนของมนุษย์ และปลาเซบราฟิชมีลักษณะเป็นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง
กระบวนการทดลองเริ่มต้นจากการปล่อยให้ปลาเจริญเติบโตจากไข่ปลาที่ได้รับการผสมพันธุ์ เพื่อเฝ้าศึกษาการเจริญเติบโตของปลาตั้งแต่เริ่มต้น นักบินอวกาศได้ตั้งกล้องบันทึกกิจกรรมที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด เช่น การให้อาหาร คุณภาพน้ำและการเปลี่ยนน้ำ โดยส่งข้อมูลกลับไปยังนักวิทยาศาสตร์บนโลกตลอดการทดลอง
ผลการทดลองเบื้องต้นแม้นักบินอวกาศจะพบว่าปลาเซบราฟิชสามารถเติบโตและมีชีวิตรอดบนอวกาศ แต่ปลากลับมีพฤติกรรมแปลก ๆ เช่น การว่ายแบบกลับหัว ถอยหลัง และเคลื่อนที่เป็นวงกลม ซึ่งบ่งชี้ว่าสภาวะไร้น้ำหนักบนอวกาศส่งผลต่อการรับรู้เชิงพื้นที่ของปลาเซบราฟิช รวมไปถึงมวลกระดูกของปลามีค่าลดลง
สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการศึกษาการเจริญเติบโตของปลาเซบราฟิชในครั้งนี้ เช่น การวางแผนออกกำลังกาย อาหาร ให้กับนักบินอวกาศที่ต้องอยู่บนอวกาศเป็นเวลานาน ซึ่งอาจส่งผลให้มวลกระดูกลดลง การพัฒนาต่อยอดในด้านการแพทย์สำหรับรักษาผู้ป่วยอาการทางกระดูก ผลกระทบของกระดูกจากรังสีบนอวกาศต่าง ๆ เป็นต้น
การทดลองเลี้ยงปลาบนสถานีอวกาศไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้เคยมีโครงการวิจัยขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ซึ่งได้ทำการทดลองเลี้ยงปลาเมดากะและปลาเซบีริชบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ในช่วงปี 2012 และพบว่าสภาพไร้น้ำหนักส่งผลให้ความหนาแน่นของกระดูกในปลาลดลงภายในเวลาเพียงสิบวัน ซึ่งเป็นอาการเดียวกับที่เกิดขึ้นกับนักบินอวกาศที่เป็นมนุษย์ แต่กรณีของปลามีช่วงเวลาที่เกิดขึ้นรวดเร็วมากกว่า
ที่มาของข้อมูล Universetoday, Xinhuathai