รีเซต

สหรัฐฯ-ฝรั่งเศส สมานรอยร้าว ไบเดนต่อสายตรง ‘ขอคืนดี’ ปมออคัส

สหรัฐฯ-ฝรั่งเศส สมานรอยร้าว ไบเดนต่อสายตรง ‘ขอคืนดี’ ปมออคัส
TNN ช่อง16
23 กันยายน 2564 ( 12:10 )
140
สหรัฐฯ-ฝรั่งเศส สมานรอยร้าว ไบเดนต่อสายตรง ‘ขอคืนดี’ ปมออคัส

หลังจากสหรัฐฯ สหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย ได้ประกาศข้อตกลงออคัส เพื่อแบ่งปันเทคโนโลยีทางการทหาร รวมถึงเทคโนโลยีการสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ เมื่อสัปดาห์ก่อน ก็สร้างความไมพอใจให้กับฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก เพราะต้องถูกยกเลิกข้อตกลงสั่งซื้อเรือดำน้ำ 12 ลำ มูลค่า กว่า 1.3 ล้านล้านบาท ที่ออสเตรเลียกับฝรั่งเศสลงนามร่วมกันเมื่อปี 2016


ฝรั่งเศสรู้เรื่องนี้ก่อนจะมีการประกาศไม่กี่ชั่วโมง แน่นอนว่าไม่พอใจเป็นอย่างมาก รัฐมนตรีกลาโหมฝรั่งเศสเรียกการกระทำของทั้ง 3 ชาติ ว่าเป็นการแทงข้างหลัง


ขณะที่สหภาพยุโรป หรือ EU ที่ฝรั่งเศสเป็นสมาชิกอยู่ก็แสดงความไม่พอใจออกโรงป้องฝรั่งเศสเช่นกัน


ประธานาธิบดีเอมมานูเอล นายมาครง ผู้นำฝรั่งเศส สั่งเรียกตัวเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของสหรัฐฯ และประจำกรุงแคนเบอร์รา ของออสเตรเลียกลับประเทศ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นระหว่างชาติพันธมิตร


'ไบเดน' ต่อสายตรง 'มาครง' เคลียร์ 'ออคัส'


สำนักข่าว BBC รายงานว่า ล่าสุด ดูเหมือนท่าทีของฝรั่งเศสจะดีขึ้นมาก น่าจะหายเคืองแล้ว หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ได้ยกหูโทรศัพท์ ต่อสายตรงถึงประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส เมื่อวันพุธ (22 กันยายน)


หลังจากพูดคุยกันฉันมิตรประมาณ 30 นาที ทั้งสองฝ่ายได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน ระบุว่า สถานการณ์ดังกล่าว จะได้รับประโยชน์จากการปรึกษาหารืออย่างเปิดเผยระหว่างพันธมิตร สถานการณ์ดังกล่าว หมายถึง ข้อตกลงออคัสนั่นเอง


สำนักข่าว BBC รายงานต่อว่า ประธานาธิบดีไบเดนได้เน้นย้ำความสำคัญของการมีส่วนร่วมของฝรั่งเศสและยุโรปในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก


รวมถึงเน้นย้ำการยอมรับของสหรัฐฯ เกี่ยวกับความสำคัญของยุโรปในการป้องกันประเทศที่เข้มแข็งขึ้นเพื่อสนับสนุนนาโต ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการหลักของประธานาธิบดีมาครงด้วย


สมานรอยร้าว


สำนักข่าว Reuters รายงานว่า เจน ปซากี โฆษก ทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ในแถลงการณ์ร่วมระบุว่า ผู้นำทั้งสองตกลงที่จะเริ่มการปรึกษาหารือเชิงลึกเพื่อสร้างความไว้วางใจอีกครั้ง และพบกันที่ยุโรปในปลายเดือนตุลาคมนี้


และสหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะ "สนับสนุนปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายในซาเฮลที่ดำเนินการโดยรัฐต่างๆ ในยุโรป" แม้จะยังไม่ชัดเจนว่านี่อาจหมายถึงการส่งกำลังกองกำลังพิเศษของสหรัฐฯ ไปร่วมต่อสู้ หรือเพียงแค่การสนับสนุนด้านลอจิสติกส์ที่มากขึ้นเท่านั้น


เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามถามว่าไบเดนได้เอ่ยปากขอโทษมาครงหรือไม่ โฆษกหญิงทำเนียบขาวก็ตอบเพียงว่า "ประธานาธิบดีไบเดนยอมรับว่าน่าจะมีการปรึกษาหารือกันมากกว่านี้"


ผลจากการพูดคุยฉันมิตร ส่งผลให้ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำวอชิงตันจะกลับไปดำรงตำแหน่งตามเดิม แต่ไม่ได้ระบุว่า เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำกรุงแคนเบอร์ราจะทำเช่นเดียวกันหรือไม่


นอกจากนี้ ผู้นำสหรัฐฯ และผู้นำฝรั่งเศสยังนัดหมายว่า จะพบกันแบบเจอหน้าที่ยุโรปในปลายเดือนหน้าด้วย


การขอโทษที่ไม่ได้ขอโทษ


โนเมีย อิคบัล ผู้สื่อข่าว BBC ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มองว่า นี่เป็น 'การขอโทษที่ไม่ขอโทษ' แบบคลาสสิคอเมริกัน นั่นคือ ไบเดน ขอโทษมาครงที่ไม่ได้ปรึกษาหารือก่อน แต่ไม่ได้ขอโทษสำหรับนโยบายของตัวเอง ซึ่งหมายถึงข้อตกลงออคัส


ขณะที่มีภาพของประธานาธิบดีไบเดนที่ยิ้มแย้มขณะพูดคุยโทรศัพท์กับประธานาธิบดีมาครงออกมา ก็เพื่อพยายามแสดงให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยดี และแม้เท่าที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายมักท่าทีเรียบง่ายเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ในคราวนี้ดูเหมือนมีความหมายหลายอย่าง


อย่างแรกคือ โดยปกติแล้ว แต่ละฝ่ายจะออกแถลงการณ์ของตนเอง แต่ครั้งนี้ผู้นำทั้งสองออกแถลงการณ์ร่วม เพื่อจะแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หลังการพูดคุยฉันมิตรเป็นเวลา 30 นาที


และชัดเจนตั้งแต่แรกว่า ไบเดน เป็นคนต่อสายถึงมาครงก่อน และนี่อาจเป็นสิ่งที่ฝรั่งเศสต้องการให้ทราบโดยทั่วกัน


แล้วไหนจะประโยคที่ว่า สองผู้นำเห็นพ้องต้องกันว่า สถานการณ์ดังกล่าว จะเป็นประโยชน์จากการหารืออย่างเปิดเผยดังกล่าว ซึ่งหมายถึงการทำข้อตกลงออคัสจะเกิดประโยชน์ หากสหรัฐฯ หารือกับฝรั่งเศสอย่างเปิดเผยก่อน


สหรัฐฯ ต้องเป็นฝ่ายง้อ


นักวิเคราะห์มองว่า ฝรั่งเศสน่าจะต้องการให้ใส่ประโยคดังกล่าวในแถลงการณ์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ ยอมรับผิด ที่ไม่ได้หารือกับฝรั่งเศสก่อน


ขณะที่ไบเดนก็ได้ย้ำจุดยืนของสหรัฐฯอีกครั้ง ว่า ยุโรปจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการป้องกันตนเองมากขึ้น และจบการสนทนาลงที่สหรัฐฯ เตือนความจำฝรั่งเศสว่า สหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือต่อต้านการก่อการร้ายใน ซาเฮล หรือเขตรอยต่อบริเวณกึ่งทะเลทรายซะฮาร่าที่แบ่งทวีปแอฟริกาออกเป็นเหนือและใต้ ซึ่งพบกลุ่มติดอาวุธ กลุ่มอาชญากรเข้ามาหลบซ่อนอยู่ในพื้นที่นี้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายมาเป็นพื้นที่ยึดครองของกลุ่มนักรบจีฮัด ซึ่งบางกลุ่มมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มอัลกออิดะห์ และกลุ่มรัฐอิสลาม หรือ ไอเอส ที่สร้างความกังวลต่อประเทศในยุโรป ซึ่งฝรั่งเศสได้ทุ่มเทกับพื้นที่ดังกล่าวอย่างมหาศาล


นักวิเคราะห์สรุปว่า เป็นแถลงการณ์ร่วม ที่ทั้งสองฝ่ายต่างใช้ความเชี่ยวชาญในการเขียนขึ้นมาเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของตน เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งและเดินหน้าต่อไปได้


อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า การพูดคุยด้วยรอยยิ้มทางโทรศัพท์เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่การพบหน้าพูดคุยกันตัวต่อตัวในเดือนหน้าที่ยุโรปจะเป็นอย่างไร ก็ต้องรอดูต่อไป


นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ประธานาธิบดีมาครง จะต้องเผชิญศึกเลือกตั้งครั้งใหม่ในปีหน้า ดังนั้น การวางตัวแข็งกร้าวกับประธานาธิบดีไบเดน เป็นสิ่งที่จะเรียกคะแนนจากชาวฝรั่งเศสได้ แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ต้องหาทางออกจากปัญหาในข้อตกลงออคัสเช่นกัน


สัมพันธ์ฝรั่งเศส-สหราชอาณาจักร ยังคลุมเครือ


ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-ฝรั่งเศส ดูเหมือนจะหาทางออกได้แล้ว แต่สำหรับฝรั่งเศสกับสหราชอาณาจักรยังคงคลุมเครือ


นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรได้บอกผ่านผู้สื่อข่าวไปยัง ประธานาธิบดีมาครงว่า ถึงเวลาแล้ว ที่เพื่อนรักของเราทั่วโลกบางคน จะต้องใจเย็น และระงับความโกรธเกี่ยวกับข้อตกลงออคัส เพราะนี่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่สำหรับความมั่นคงระดับโลก


โดยจอห์นสัน พูดภาษาฝรั่งเศสออกมาสองคำ นั่นคือ “'prenez un grip” ที่แปลว่า 'ใจเย็นๆ' และ 'donnez-moi un break' หรือว่า 'ขอทีเถอะ' ด้วย


ท่าทีของผู้นำสหราชอาณาจักรมีขึ้นหนึ่งวัน หลังจากเข้าพบผู้นำสหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.


จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่า เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำกรุงแคนเบอร์รา ของออสเตรเลีย จะกลับไปประจำตำแหน่งตามเดิม หลังจากถูกเรียกตัวกลับประเทศหรือไม่ และการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพยุโรปและเจ้าหน้าที่ของออสเตรเลียในสัปดาห์หน้าก็ยังไม่แน่ว่าจะมีขึ้นตามกำหนดการเดิมหรือไม่เช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง