รีเซต

กนอ.-ส.อ.ท.ยกระดับนิคมฯ เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

กนอ.-ส.อ.ท.ยกระดับนิคมฯ เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
มติชน
29 กันยายน 2563 ( 00:51 )
84
กนอ.-ส.อ.ท.ยกระดับนิคมฯ เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

กนอ.ปลื้ม 34 นิคมฯ ยกระดับสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ กางแผน 5 ปีต้องมีนิคมฯผ่านเกณฑ์ชี้วัดเพิ่มขึ้นอีก 5 แห่งทั่วปท.

 

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้กำหนดมาตรฐานและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศใน 5 มิติ 22 ด้าน ด้วยการสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวและใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในสถานประกอบการ เช่น การนำน้ำเสียที่โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยทิ้งมาบำบัดแล้วนำมาผลิตน้ำ RO (Reverse Osmosis) และนำกลับมาใช้ใหม่แทนน้ำประปาซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ การนำเศษวัสดุเหลือใช้จากการประกอบกิจการโรงงานไปเพิ่มมูลค่าด้วยการนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น เช่น นำเศษขยะทั่วไปในนิคมอุตสาหกรรมไปแปลงเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาปูนซีเมนต์ หรือนำตะกอนจากโรงงานไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพให้กับเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงได้ใช้ประโยชน์ รวมทั้งส่งเสริมการสร้างอาชีพจากวัสดุเหลือใช้จากการประกอบกิจการมาดัดแปลงให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสร้างรายได้ให้กับชุมชน และส่งเสริมกลุ่มอาชีพวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ให้มีการประกอบกิจการที่มีผลกำไร โดยที่ผ่านมาวิสาหกิจชุมชนสามารถทำรายได้เป็นเงินหมุนเวียนให้กับสมาชิกในกลุ่มได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

“แนวทางการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เน้นการสร้างความสมดุลระหว่างปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โรงงานอุตสาหกรรมและชุมชนท้องถิ่น โดย กนอ.ได้กำหนดคุณลักษณะมาตรฐานและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศไว้ใน 5 มิติ 22 ด้าน โดยแบ่งการยกระดับความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมีใน 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับ Eco-World Class / Eco-Excellence และ Eco-Champion ตามลำดับ ซึ่งหากนิคมฯที่ผ่านเกณฑ์และยกระดับเป็น Eco-World Class แล้ว ต้องรักษาระดับการเป็น Eco-Excellence และ Eco-Champion อย่างต่อเนื่อง ด้วยการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล และการมีส่วนร่วม โดย กนอ.มีแผนแม่บทที่ใช้เป็นแผนปฏิบัติการแนวทางการเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในทุกระดับ โดยตั้งเป้าภายใน 5 ปี (2564-2568) จะต้องมีโรงงานอุตสาหกรรมที่ผ่านการตรวจประเมินการเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพิ่มขึ้นอีก 5 แห่ง ทั่วประเทศ”น.ส.สมจิณณ์กล่าว

 

สำหรับปีนี้มีนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับการรับรองเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับ Eco-Champion จำนวน 34 แห่ง และใน 34 แห่ง ได้ยกระดับสู่การเป็น Eco-Excellence จำนวน 13 แห่ง และใน Eco-Excellence ได้ยกระดับสู่การเป็น Eco-World Class จำนวน 3 แห่ง นอกจากนั้น มีนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศได้รับการพัฒนาต่อยอดสู่การเป็นนิคม/ท่าเรืออุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 4.0 จำนวน 3 แห่ง โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 4.0 จำนวน 5 แห่ง โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco-Factory) จำนวน 29 แห่ง และโรงงานที่สนับสนุนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 35 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีการมอบประกาศนียบัตรให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับการรับรอง Water Footprint อีก 7 แห่ง

 

ด้านนายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการทำธุรกรรมต่างๆ การทำงาน การผลิต การซื้อขายแลกเปลี่ยน และการดำเนินทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยภาครัฐต้องให้การสนับสนุนภาคการผลิตและธุรกิจ ที่เร่งปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะธุรกิจในอนาคตที่จะมีบทบาทมากขึ้น คือ ไอที และดิจิทัล การค้าขายที่จะเปลี่ยนรูปแบบเป็นออนไลน์ E-Commerce มากขึ้น ธุรกิจการเงินที่จะก้าวสู่สังคมไร้เงินสดมากขึ้น เนื่องจากสังคมไทยจะก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

 

ปัจจุบันสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ส.อ.ท. ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับชุมชน สังคมอย่างยั่งยืน โดยได้นำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy พร้อมส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการให้ดำเนินธุรกิจด้วยธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และมีความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมแบบ Smart system เช่น การนำระบบ Internet of Things หรือ IOT มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง