รีเซต

สสปท. ลงตรวจจุดดินถล่มทับคนงาน ย้ำลงใต้ดินลึกตั้งแต่ 2 เมตร ต้องมีอุปกรณ์ช่วยชีวิต

สสปท. ลงตรวจจุดดินถล่มทับคนงาน ย้ำลงใต้ดินลึกตั้งแต่ 2 เมตร ต้องมีอุปกรณ์ช่วยชีวิต
TNN ช่อง16
20 พฤษภาคม 2568 ( 17:46 )
9

จากเหตุคนงานพลัดตกหลุมฝังเสาเข็ม เนื่องจากดินสไลด์ บริเวณไซส์งานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย บริเวณปากซอยหลานหลวง 6 และซอยหลานหลวง 8 แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ความคืบหน้าในเรื่องความปลอดภัยของแรงงานที่ทำงานเสี่ยงอันตรายดังกล่าว  ดร.นันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์   ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือ สสปท. องค์กรมหาชน ในสังกัดกระทรวงแรงงาน เผยว่า งานขุดดินและงานที่ต้องลงไปทำงานในหลุมหรืออุโมงค์ เป็นงานที่มีความเสี่ยงสูงในระดับสูงสุด โดยเฉพาะความเสี่ยงจากดินถล่มหรือการพังทลายของดิน นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนงานเสียชีวิตเกือบครึ่งหรือประมาณ 48 % ของแรงงานประเภทเดียวกันในเวลาที่เกิดอุบัติเหตุ 

ดร.นันทชัย ระบุว่า การทำงานในพื้นที่ก่อสร้าง โดยเฉพาะการก่อสร้างรถไฟใต้ดินที่ต้องมีการขุดดินลงไปนั้น สิ่งที่นายจ้างและลูกจ้างต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตาม กำหนดมาตรการความปลอดภัยของไซต์งานก่อสร้าง ตามมาตรฐานความปลอดภัยและกฎหมายความปลอดภัยในงานก่อสร้างของกระทรวงแรงงาน พ.ศ. 2564 คือ หากลูกจ้างต้องลงไปทำงานในสถานที่ที่มีความลึกตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไป นายจ้างต้องจัดให้มีทางขึ้นลงที่มั่นคงแข็งแรง รวมถึงมีระบบการถ่ายเทอากาศและแสงสว่างที่เพียงพอ และควรมีอุปกรณ์เพื่อการสื่อสารหรือรับส่งสัญญาณในกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งสายหรือเชือกช่วยชีวิต และเข็มขัดนิรภัยที่เหมาะสม

“สาเหตุหลักที่ทำให้แรงงานส่วนใหญ่เสียชีวิต คือ ขาดอากาศหายใจ เพราะหลุมหรืออุโมงค์ด้านล่างที่ต้องลงไปทำงาน เป็นพื้นที่อับอากาศ ที่น่าตกใจมากๆคือ แรงงานส่วนใหญ่ที่ต้องลงไปทำงานไม่มีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันตนเองเพื่อให้เกิดความปลอดภัย และไม่สามารถสื่อสารกับคนที่อยู่ข้างบนได้ ทั้งๆที่โดยมาตรฐานการทำงานประเภทนี้คนที่ลงไปทำงานในหลุมต้องติดต่อสื่อสารกับคนข้างบนได้ตลอดเวลาในกรณีฉุกเฉิน เอาง่ายๆแค่นกหวีด 1 ตัวสามารถทำให้รอดชีวิตได้” ผอ.สสปท. ย้ำ 

ผอ.สสปท. ให้ข้อมูลด้วยว่า  สสปท. เน้นย้ำในการป้องกันอันตรายจากการทำงานในที่อับอากาศหรืองานขุดดิน ด้วยหลัก 3 P   คือ Prepare หรือการเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มงาน โดยการสำรวจพื้นที่หน้างาน  เพื่อสังเกตอันตรายจากน้ำ สภาพบรรยากาศ ตรวจสอบโครงสร้างพื้นดิน ลักษณะดิน ระดับน้ำใต้ดิน และสิ่งกีดขวาง เช่น สายไฟ ท่อประปา เพื่อที่จะได้วางแผนการขุดอย่างปลอดภัย และก่อนลงมือขุด ต้องเตรียมพร้อมในการติดตั้งระบบแจ้งเตือนและควบคุมพื้นที่ ใช้ป้ายเตือน รั้ว หรือแผงกั้น เพื่อป้องกันบุคคลภายนอกเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยง นอกจากนี้ควรมีการ เตรียมอุปกรณ์ PPE และอุปกรณ์ช่วยชีวิต เช่น หมวกนิรภัย ถุงมือนิรภัย เสื้อสะท้อนแสง อุปกรณ์ช่วยหายใจ (ในกรณีพื้นที่อับอากาศ) และต้องมีการฝึกอบรมคนงานให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากงานขุดดิน วิธีใช้อุปกรณ์ และแผนฉุกเฉิน

            ส่วน  P ที่สอง คือ Process หรือ ขั้นตอนการทำงานที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการควบคุมความเสี่ยงจากการพังทลายของดิน  มีการกำหนดทางเข้า-ออกที่ปลอดภัยจากพื้นที่ขุด และ ส่วน P สุดท้าย คือ Postwork หรือ ขั้นตอนหลังปฏิบัติงานเสร็จสิ้น เพื่อรักษาความปลอดภัยของพื้นที่ โดยจะต้องตรวจสอบความเรียบร้อยของพื้น เพื่อป้องกันการทรุดตัวในอนาคต

        “สิ่งสำคัญ คือ ผู้ประกอบการควรจะเน้นการอบรมให้ผู้ปฏิบัติงาน สามารถสื่อสารด้วยภาษามือที่สามารถเข้าใจได้โดยทั่วกัน หรือให้คนงานทุกคนมีนกหวีดห้อยคอ  และเป่านกหวีด หากมีอันตราย ซึ่งจะสามารถช่วยชีวิตในเบื้องต้นได้”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง