รีเซต

อินเดียพัฒนา "นาโนบอต" หุ่นยนต์จิ๋วกำจัดแบคทีเรียในฟันผุด้วยความร้อน

อินเดียพัฒนา "นาโนบอต" หุ่นยนต์จิ๋วกำจัดแบคทีเรียในฟันผุด้วยความร้อน
TNN ช่อง16
18 พฤษภาคม 2565 ( 05:55 )
219

ปัญหาสุขภาพในช่องปากเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง เพราะฟันเป็นอวัยวะที่ไม่สามารถสร้างใหม่ได้ อีกทั้งยังสร้างความเจ็บปวดให้กับคุณอย่างมากโดยเฉพาะเมื่อเกิดฟันผุ ดังนั้น การจัดการฟันผุอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้คุณสามารถรักษาฟันเอาไว้ได้เป็นอย่างดี




ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาสารเคลือบฟันเทียม ที่มีความแข็งมากกว่าสารเคลือบฟันตามธรรมชาติ (สารเคลือบฟัน เรียกว่า เอนาเมล - Enamel) สามารถนำมาใช้ในการเคลือบฟันผุหรือฟันที่เกิดการสึกกร่อนให้กลับมาใช้งานได้ดังเดิม โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องถอนฟันทิ้งอีกต่อไป ทว่า ก่อนที่จะเคลือบฟันที่ผุกร่อนได้นั้น เราจะต้องกำจัดแบคทีเรียต่าง ๆ ในฟันผุให้ได้เสียก่อน มิฉะนั้นแบคทีเรียที่ถูกขังอยู่ในฟันหลังเคลือบจะยังคงกินเนื้อฟันต่อไป และอาจก่อปัญหาได้ในอนาคต


ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์อินเดีย ร่วมกับบริษัทเธอรานอทิลุส (Theranautilus) เล็งเห็นว่าการกรอฟันเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถกำจัดแบคทีเรียได้หมด จึงได้พัฒนา "นาโนบอต" (Nanobot) หุ่นยนต์ขนาดจิ๋วระดับนาโนเมตร เพื่อกำจัดแบคทีเรียในฟันด้วยความร้อน สามารถเข้ากำจัดในส่วนร่องฟันที่เข้าถึงได้ยากและใช้เวลาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น


ภาพจำลองนาโนบอต (เกลียวสีขาว) เข้ากำจัดแบคทีเรีย (ก้อนกลมสีเขียว)
ที่มาของภาพ Theranautilus

 


ปกติแล้วการทำความสะอาดฟันผุ นอกเหนือจากการกรอฟันด้วยเครื่องมือของทันตแพทย์แล้ว ก่อนหน้านี้มีการใช้อุปกรณ์จำพวกเลเซอร์หรือคลื่นอัลตราซาวด์เพื่อกำจัดแบคทีเรียในฟัน แต่อุปกรณ์เหล่านี้สามารถลงลึกได้เพียง 800 ไมโครเมตรเท่านั้น ในขณะที่นาโนบอตสามารถเข้าทำความสะอาดได้ลึกกว่าถึง 2,000 ไมโครเมตร


นาโนบอตถูกสร้างขึ้นจากซิลิคอนไดออกไซด์เคลือบด้วยเหล็ก ทำให้ทันตแพทย์สามารถควบคุมทิศทางของมันได้ด้วยการส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแบบอื่น ๆ หลังจากนั้นเมื่ออยู่ในจุดที่ต้องการก็สามารถสั่งการให้เกิดการเหนี่ยวนำของพลังงานแม่เหล็กเพื่อกระตุ้นให้นาโนบอตจากความร้อนทำลายแบคทีเรีย กระบวนการนี้นับว่ามีประสิทธิภาพกว่าการใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะสามารถกำจัดแบคทีเรียดื้อยาได้ด้วย


ที่มาของภาพ Theranautilus

 


จากการทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่า นาโนบอตสามารถกำจัดแบคทีเรียที่อยู่ในฟันผุของหนูทดลองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการทันตแพทย์สามารถดึงนาโนบอตเหล่านี้ออกมาได้อย่างปลอดภัย ซึ่งหลังจากที่ทำความสะอาดฟันเสร็จเรียบร้อย ทันตแพทย์ก็มั่นใจที่เคลือบฟันให้กับหนูทดลองได้อย่างมั่นใจ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการตกค้างของแบคทีเรียในฟัน


แอมบาริช โกช (Ambarish Ghosh) นักวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในโครงการวิจัยกล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่สามารถทำความสะอาดแบคทีเรียในฟันได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยได้เท่ากับนาโนบอต เขาหวังว่าเทคโนโลยีนี้จะได้รับการรับรองให้นำมาใช้รักษาสุขภาพฟันให้กับประชาชนชาวอินเดียได้ในเวลาอันรวดเร็ว และคาดว่ามันจะถูกประยุกต์ใช้ในงานทันตกรรมทั่วโลกอีกด้วย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Interesting Engineering


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง