นักวิจัยจีนสร้างปืนไรเฟิลติดโดรนไร้แรงถีบ เสริมแกร่งยุคสงครามกดปุ่ม
อินเทอร์เรสติง เอ็นจิเนียริง (Interesting Engineering) รายงานข่าวอ้างถึงเว็บไซต์ เซาท์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์ (South China Morning Post: SCMP) ที่ระบุว่า นักวิจัยจากสาขาวิศวกรรมโยธาและอิเล็กทรอนิกส์มหาวิทยาลัยจีนเหนือ (North University of China) ได้พัฒนาอาวุธปืนไรเฟิลแบบ AK-47 ที่ปรับแต่งให้ปราศจากแรงถีบ หรือแรงสะท้อนกลับ (Recoil แรงถีบจากการยิงกระสุนปืน) สำหรับติดตั้งเข้ากับโดรนที่ปรับแต่งให้รับคำสั่งยิงจากระยะไกลได้สำเร็จ
หลักการโดรนติดปืนไรเฟิลจากจีน
เอเค-47 หรืออัฟโตแม็ท คาลาชนิคอฟ - 47 (Автома́т Кала́шникова-47) เป็นปืนไรเฟิลจู่โจมด้วยกระสุนขนาด 7.62×39 มิลลิเมตร ความเร็วกระสุนอยู่ที่ 740 - 900 เมตรต่อวินาที ขึ้นอยู่กับประเภทกระสุน ซึ่งจัดเป็นปืนที่ได้รับความนิยมสูงในหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม การนำอาวุธไรเฟิล AK-47 ไปติดตั้งกับโดรนนั้น ติดข้อจำกัดเรื่องแรงถีบ หรือแรงสะท้อนกลับที่มาจากแก๊สที่เกิดขึ้นตอนลั่นไกซึ่งทำให้โดรนเสียสมดุล และทำให้ความแม่นยำในการยิงผ่านโดรนนั้นลดลงอย่างมาก
ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยจาก North University of China จึงได้แก้ปัญหาอย่างง่ายด้วยการเจาะรูที่ท้ายของกระบอกปืน เพื่อระบายแรงดันแก๊ส (Shock wave) ที่เกิดขึ้นจากการระเบิดของดินปืน พร้อมออกแบบเยื่อปิดกั้น (membrane seal) ที่ข้างกระบอกปืนใหม่ รวมถึงชิปเหนี่ยวนำการยิงด้วยระบบแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic induction chip) ที่ตัวโดรน
กลไกและความคุ้มทุนในการติดปืนกับโดรน
เมื่อผู้ควบคุมสั่งการการยิง ชิปดังกล่าวจะทำหน้าที่เหนี่ยวนำจนเกิดการระเบิดภายในกระสุนและทำให้กระสุนพุ่งออกไปแทนการลั่นไก แก๊สที่ปล่อยออกจากจากการระเบิดภายในกระสุน จะพุ่งย้อนทิศทางไปกระทบเยื่อปิดกั้นที่ทำหน้าที่ปิดไม่ให้แก๊สรั่วออกจากข้างกระบอกปืน แก๊สจึงจะออกได้ทางเดียว คือรูที่เจาะไว้ด้านหลังกระบอกปืน
หลักการดังกล่าวนักวิจัยอ้างว่า ได้ทดสอบการยิง และพบว่าระบบปืนแบบใหม่นี้ทำให้ปืนเกิดแรงสะท้อนกลับจนโดรนขยับตำแหน่งเพียง 1.8 เซนติเมตร โดยยังคงความเร็วกระสุนที่ปากกระบอกปืนเอาไว้ได้
นักวิจัยยังชูจุดเด่นว่า ระบบโดรนติดปืนไรเฟิลดังกล่าวมีต้นทุนต่ำ วัสดุที่แพงที่สุดคือฉนวนกันความร้อนระหว่างโดรนกับกระบอกปืนซึ่งทำจากเซรามิก ในขณะที่วัสดุอื่น ๆ หรือกระบวนการผลิตนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ทั่วไปในอุตสาหกรรมการบินและการทหาร ซึ่งนักวิจัยต้องการให้แนวคิดดังกล่าวเสริมแกร่งให้กับมิติการรบแบบอัตโนมัติ (Unmanned Warfare) ที่กำลังมีบทบาทเพิ่มขึ้นทั่วโลกในปัจจุบัน
ข้อมูล Interesting Engineering
ภาพ Wikicommons