คาซัคสถาน : ตำรวจระบุ "กำจัด" ผู้ร่วมจลาจลไปหลายสิบคน สถานทูตเตือนคนไทยอย่าออกจากบ้าน
กองกำลังด้านความมั่นคงของ คาซัคสถาน ระบุว่าได้สังหารผู้ก่อการจลาจลไปหลายสิบคนในอัลมาตี อดีตเมืองหลวงของประเทศที่ร่ำรวยด้วยเชื้อเพลิงและแร่ธาตุในตอนกลางของทวีปเอเชีย
โฆษกหญิงของตำรวจระบุว่าการปราบปรามมีขึ้น ภายหลังกลุ่มผู้ประท้วงพยายามเข้ายึดสถานีตำรวจหลายแห่งในเมืองนี้ ขณะเดียวกันมีเจ้าหน้าที่ความมั่นคง 12 รายที่ถูกสังหาร และอีก 353 คนได้รับบาดเจ็บในความวุ่ยวายที่เกิดขึ้น ที่เริ่มจากการประท้วงการปรับราคาแก๊สปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักของยานยนต์ในประเทศนี้
รัสเซียอยู่ระหว่างส่งกองกำลังเข้ามาช่วยคุมสถานการณ์ตามคำร้องขอของประธานาธิบดีคาซัคสถาน
ด้านสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงนูร์-ซุลตัน ออกประกาศเมื่อ 5 ม.ค. ขอให้คนไทยที่อาศัยอยู่ทั่วคาซัคสถาน หลีกเลี่ยงการออกจากที่พักอาศัยหากไม่มีเหตุจำเป็น ห้ามออกจากสถานที่พักอาศัยระหว่างเวลา 23.00 น. - 07.00 น. หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังสถานที่ที่มีคนพลุกพล่านและการชุมนุม และเตือนว่า ในช่วงนี้สัญญาณอินเตอร์เน็ตสำหรับโทรศัพท์ รวมทั้งการเข้าแอปพลิเคชั่นสนทนาต่าง ๆ อาจมีปัญหาขัดข้องในบางพื้นที
ประกาศนี้มีขึ้น 1 วันหลังจากที่รัฐบาลคาซัคสถานได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 2 สัปดาห์ภายหลังจากการประท้วงรุนแรงในเมืองอัลมาตี มีมาตรการสำคัญ คือ การห้ามออกจากเคหะสถานระหว่างเวลา 23.00 น. - 07.00 น. และ การห้ามรวมตัวและชุมนุมกัน
ร้องกองกำลังนานาชาติช่วย
ในการปราศรัยทางโทรทัศน์ในช่วงเช้ามืดของ 6 ม.ค. ประธานาธิบดีคาสซิม โจมาร์ท โตกาเยฟ แห่งคาซัคสถาน กล่าวว่า ได้ร้องขอการการสนับสนุนด้านกำลังจาก องค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security Treaty Organization - CSTO) ซึ่งเป็นพันธมิตรทางทหารที่ประกอบด้วยรัสเซียและอดีตสหภาพโซเวียต 5 ประเทศ ได้แก่ อาร์มีเนีย เบลารุส คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน และ คาซัคสถาน
นายกรัฐมนตรีอาร์เมเนีย นิโคล พาชินยัน ในฐานะประธาน CSTO แถลงผ่านเฟซบุ๊กเมื่อ 5 ม.ค. ว่า พันธมิตรจะส่งกองกำลังรักษาสันติภาพไป "ในระยะเวลาจำกัด"
กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ กล่าวว่า "กำลังติดตามสถานการณ์ในคาซัคสถานอย่างใกล้ชิด" โดยโฆษกของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกร้องให้ทั้งฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ประท้วงให้ใช้ความอดทนอดกลั้นต่อกัน
การประท้วงเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 2 ม.ค. จากราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้น ต่อมาการประท้วงดังกล่าวได้ขยายวงกว้างออกไปเป็นเรื่องของความคับข้องใจทางการเมืองด้านอื่น ๆ อีก โดยประธานาธิบดีโตกาเยฟ อ้างว่าเหตุการณ์ความไม่สงบเป็นการกระทำของ "กลุ่มผู้ก่อการร้าย" ที่ได้รับการฝึกมาจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม เคท มอลลิสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียกลางด้านการต่างประเทศจากสถาบันวิชาการแชแธมเฮาส์ (Chatham House) ในลอนดอนกล่าวว่าการประท้วงเป็น "อาการของความโกรธและความขุ่นเคืองที่ฝังลึกและเดือดดาลที่มาจากความล้มเหลวของรัฐบาล ในด้านการพัฒนาประเทศของตนให้ทันสมัย และนำการปฏิรูปเข้ามาแล้ว ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกระดับ"
.....................
ข้อมูลพื้นฐาน
ประเทศนี้อยู่นี่ไหน : คาซัคสถานมีพรมแดนตอนเหนือติดกับรัสเซีย และทางตะวันออกติดกับจีน มีพื้นที่ใหญ่เท่ากันยุโรปตะวันตก เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาประเทศในเอเชียกลางที่แตกตัวมาจากอดีตสหภาพโซเวียต
ประเทศนี้สำคัญอย่างไร : คาซัคสถานมีแร่ธาตุมากมาย มีน้ำมันดิบถึง 3% ของปริมาณน้ำมันสำรองของทั้งโลก อีกทั้งมีถ่านหินและแก๊สจำนวนมาก ชาติสาธารณรัฐมุสลิมแห่งนี้มีคนเชื้อสายรัสเซียเป็นชนกลุ่มน้อย และรอดพ้นความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดในประเทศอื่น ๆ ในเอเชียกลางมาได้สักพัก
........................
ความวุ่นวายร้ายแรงแค่ไหน
นักสังเกตการณ์หลายกลุ่มบอกว่า เป็นเรื่องยากที่จะทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน เนื่องจากภาวะ "สัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ดับไปทั่วประเทศ" อีกทั้งมีรายงานว่ากองกำลังความมั่นคงของรัฐอยู่ข้างเดียวกับผู้ประท้วงในบางพื้นที่
โฆษกหญิงของสำนักงานตำรวจอัลมาตีขอร้องประชาชนอย่าออกจากบ้านเป็นการชั่วคราว เนื่องจากปฏิบัติการ "ต่อต้านก่อการร้าย" ในอาคาร 3 แห่งของรัฐ ยังดำเนินต่อไปเมื่อวันที่ 6 ม.ค. หลังจากที่ตำรวจ "กำจัด" คนเหล่านี้ที่พยายามบุกเข้ายึดสำนักงานของตำรวจ และขโมยอาวุธ
มีผู้ได้รับบาดเจ็บราว 1,000 คน ในความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ในจำนวนนี้ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลถึง 400 คน
กลุ่มผู้ประท้วงยังพุ่งเป้าไปที่สำนักงานของนายกเทศมนตรีเมืองอัลมาตี และสนามบินหลักของประเทศ
ไม่ใช่แค่เรื่องราคาพลังงาน
การประท้วงที่ยกระดับกลายเป็นความรุนแรงทำให้หลายคนประหลาดใจ ทั้งในคาซัคสถานและในภูมิภาคใกล้เคียง และเหตุการณ์ดังกล่าวได้บอกเป็นนัยว่าสาเหตุของการประท้วงมีมากกว่าการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน
ประเทศนี้เป็นรัฐในเอเชียกลางที่มีความมั่นคงดั้งเดิมซึ่งมักถูกอธิบายว่าเป็นเผด็จการ ประธานาธิบดี นูร์สุลต่าน นาซาร์บาเยฟ ปกครองประเทศจนกระทั่งปี 2019 ด้วยลัทธิบูชาบุคคล โดยมีการสร้างรูปปั้นของเขาทั่วประเทศและเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงเป็นชื่อเขา
ทว่าเมื่อเขาจากไป ท่ามกลางการประท้วงต่อต้านรัฐบาลซึ่งเขาพยายามจำกัดด้วยการก้าวลงจากตำแหน่ง และวางตัวพันธมิตรที่ใกล้ชิดเข้ามาแทนที่เขา
การเลือกตั้งในประเทศ พรรครัฐบาลชนะเป็นส่วนใหญ่ด้วยคะแนนเสียงเกือบ 100% และไม่มีฝ่ายค้านทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพ
นักวิเคราะห์รายหนึ่งบอกว่ารัฐบาลประเมินความโกรธแค้นของประชาชนต่ำเกินไป และไม่น่าแปลกใจ สำหรับประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตยในการเลือกตั้ง ผู้คนต้องออกไปประท้วงที่ถนนเพื่อให้คนได้รับรู้ถึงสิ่งที่พวกเขาต้องการ และความคับข้องใจของพวกเขามีมากกว่าปัญหาเรื่องราคาน้ำมันแน่นอน
ประธานาธิบดีโตกาเยฟ เป็นผู้นำคนที่สองของประเทศนับตั้งแต่คาซัคสถานประกาศเอกราชในปี 1991โดยการเลือกตั้งปี 2019 เขาถูกองค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe -- OSCE) ประณามว่าไม่เคารพมาตรฐานประชาธิปไตย
ไล่ออก แต่ไม่สงบ
อย่างไรก็ตาม ความโกรธเคืองของผู้ชุมนุมบนท้องถนนส่วนใหญ่ดูเหมือนจะมุ่งเป้าไปที่นูร์สุลต่าน นาซาร์บาเยฟ ซึ่งมีบทบาทด้านความมั่นคงของชาติที่ทรงอิทธิพลตั้งแต่ลาออกจากตำแหน่ง โดยเมื่อที่ 5 ม.ค. เขาถูกไล่ออกเพื่อทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบที่ทวีความรุนแรงขึ้นบรรเทาลง
ผู้ประท้วงต่างตะโกนเรียกชื่อนายนาซาร์บาเยฟ ขณะที่มีวิดีโอแสดงภาพผู้ประท้วงพยายามจะโค่นรูปปั้นทองสัมฤทธิ์ขนาดยักษ์ของอดีตผู้นำลง โดยวิดีโอดังกล่าวได้รับการแชร์ทางสื่อสังออนไลน์อย่างแพร่หลาย ตามรายงานของแผนกสอดส่องติดตามข่าวสาร BBC Monitoring อนุสาวรีย์ซึ่งถูกรื้อถอนแล้วในขณะนี้ ดูเหมือนว่าจะตั้งอยู่ในเมืองทาลดีกอร์กัน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของนายนาซาร์บาเยฟ
เจ้าหน้าที่ที่สนามบินหลักของคาซัคสถานต้องหลบหนีผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล ซึ่งมีเป้าหมายไปที่อาคารรัฐบาลด้วย
ผู้ประท้วงรวมตัวกันที่สำนักงานของนายกเทศมนตรีในอัลมาตีก่อนที่จะบุกโจมตีในที่สุด โดยในวิดีโอที่แชร์อยู่บนสื่อสังคมออนไลน์เผยให้เห็นกลุ่มควันพวยพุ่งออกมาจากตัวอาคาร ขณะที่ได้ยินเสียงปืนอยู่เป็นระยะ
คานาต ไทเมอร์เดนอฟ ผู้บัญชาการตำรวจของเมืองกล่าวว่า "กลุ่มหัวรุนแรง" ได้โจมตีพลเรือน 500 คน และปล้นทำลายร้านค้าหลายร้อยแห่ง
มีการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อปราบผู้ประท้วงในเมืองอักเตอเบทางตะวันตก นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ากองกำลังความมั่นคงย้ายข้างไปสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วงในบางพื้นที่