ADB ชี้ ผู้หญิงในเอเชีย มักถูกเอาเปรียบเรื่องการจ้างงาน-ค่าตอบแทน
ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ระบุในรายงานความเสมอภาคและพัฒนาการทางเพศ (Gender Equality and Development) ว่า ผู้หญิงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกยังคงเผชิญกับการเลือกปฏิบัติทางเพศในด้านการจ้างงานและค่าตอบแทน รวมถึงเผชิญอุปสรรคเพิ่มเติมในการเข้าสู่ธุรกิจบางภาคส่วนที่ผู้ชายเป็นใหญ่
ทั้งนี้ ADB ได้ดำเนินการวิเคราะห์อัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงาน (Labor force participation rate) ในกลุ่มคนอายุ 25 ปีขึ้นไปในปี 2565 พบว่า อัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานที่เป็นผู้หญิงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นอยู่ที่ 59.4% เทียบกับผู้ชายอยู่ที่ 85.1%
ขณะที่อัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานที่เป็นผู้หญิงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกอยู่ที่ 62.3% เทียบกับผู้ชายอยู่ที่ 76.3% ส่วนอัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานที่เป็นผู้หญิงในภูมิภาคเอเชียใต้อยู่ที่ 28.0% เทียบกับผู้ชายอยู่ที่ 84.1%
นอกจากนี้ ในด้านการศึกษานั้น ADB ระบุว่า แม้ความเสมอภาคทางเพศมีความคืบหน้าอย่างชัดเจน แต่ยังคงมีความไม่เสมอภาคในด้านการศึกษา
รายงานระบุว่า อัตราส่วนการรู้หนังสือของผู้ใหญ่ที่เป็นผู้หญิงในประเทศไทยตามข้อมูลที่ ADB เข้าถึงในปี 2565 นั้นอยู่ที่ 92.4% แม้จะถือว่าค่อนข้างสูง แต่ยังต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน โดยฟิลิปปินส์อยู่ที่ 98.2%, บรูไนอยู่ที่ 96.3%, สิงคโปร์อยู่ที่ 95.9%, อินโดนีเซียอยู่ที่ 94.0%, เวียดนามอยู่ที่ 93.6% และมาเลเซียอยู่ที่ 93.5% ส่วนลาวอยู่ที่ 79.4%, กัมพูชาอยู่ที่ 75.0% และเมียนมาอยู่ที่ 71.8%
ขณะที่ประเทศที่ผู้หญิงมีอัตราส่วนการรู้หนังสือสูงที่สุดคืออุซเบกิสถานที่ 100% ตามมาด้วยคาซัคสถาน อาเซอร์ไบจาน ทาจิกิสถาน และอาร์เมเนียที่ 99.7%
ส่วนประเทศที่ผู้หญิงมีอัตราส่วนการรู้หนังสือน้อยที่สุดคืออัฟกานิสถานที่ 29.8% ตามมาด้วยปากีสถานที่ 46.5% และภูฏานที่ 57.1% ขณะที่จีนนั้นผู้หญิงมีอัตราส่วนการรู้หนังสืออยู่ที่ 95.2%
ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE
ที่มาภาพ : TNN