รีเซต

HENG ปั๊มพอร์ตชน1.4หมื่นล้าน เพิ่มสัดส่วนงานจำนำทะเบียน

HENG ปั๊มพอร์ตชน1.4หมื่นล้าน เพิ่มสัดส่วนงานจำนำทะเบียน
ทันหุ้น
16 พฤศจิกายน 2564 ( 14:39 )
253
HENG ปั๊มพอร์ตชน1.4หมื่นล้าน เพิ่มสัดส่วนงานจำนำทะเบียน

ทันหุ้น – HENG ตั้งเป้าอีก 2 ปีพอร์ตสินเชื่อแตะ 1.48 หมื่นล้านบาท หรือโต 28-30% จากปีนี้คาดจบที่ 8.8-9 พันล้านบาท เน้นจำนำทะเบียน-นาโนไฟแนนซ์ ชี้ดีมานด์สูง ลูกค้าเข้าถึงแหล่งเงินง่าย ลุยกด NPL ลดต่ำกว่า 3% เดินเกมผุดสาขาสิ้นปีนี้ 500 แห่ง

 

นางสุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ HENG ผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อภายใต้แบรนด์ ‘เฮงลิสซิ่ง’ เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อ 2 ปีข้างหน้า (2565-2566) เติบโต 28-30% โดยพอร์ตสินเชื่อปีหน้า หรือปี 2565 จะเพิ่มขึ้นแตะ 11,500 ล้านบาท จาก 9 เดือนแรกปีนี้พอร์ตสินเชื่ออยู่ที่ 8,709 ล้านบาท และคาดปีนี้จะจบที่ประมาณ 8,800-9,000 ล้านบาท ส่วนปี 2566 จะเพิ่มขึ้นแตะ 14,800 ล้านบาท

 

รุกจำทะเบียน

สำหรับกลยุทธ์การเติบโตบริษัทเน้นปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และนาโนไฟแนนซ์ เนื่องจากเชื่อว่าอนาคตความต้องการของ 2 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด โดยปัจจุบันทุกครัวเรือนมีรถยนต์เกือบทุกบ้าน เมื่อต้องการใช้เงิน ทุกครัวเรือนจะใช้รถยนต์เป็นหลักประกัน เพื่อนำเงินมาเป็นทุนหมุนเวียนในชีวิตประจำวัน

 

ส่วนนาโนไฟแนนซ์มีความต้องการสูงเช่นกัน เพราะปัจจุบันพนักงานออฟฟิศลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัว เช่น ค้าขายออนไลน์ จำนวนมาก ดังนั้นนาโนไฟแนนซ์จะเป็นแหล่งเงินทุนให้กับลูกค้าดังกล่าวได้ อย่างไรก็ดีแม้ดอกเบี้ยนาโนไฟแนนซ์ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดไว้ที่ 33% ต่อปี ถึงจะเป็นตัวเลขที่งสูง แต่เมื่อเทียบกับการกู้นอกระบบและไม่มีหลักประกันยังถือว่าสูงกว่าการกู้จากนาโนไฟแนนซ์ ดังนั้นเชื่อว่าความต้องการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จะเป็นที่ต้องการมาก เพราะลูกค้าสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย

 

บริษัทตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนจำนำทะเบียนรถจากปัจจุบันอยู่ที่ 27% ให้เพิ่มขึ้นแตะ 48% และลดสัดส่วนรายได้จากธุรกิจเช่าซื้อให้เหลือเพียง 37% จากปัจจุบันอยู่ที่ 65% ภายในปี 2566 เนื่องจากพอร์ตสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบเเทนที่ดี

 

ส่วนหนี้เสียที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปีนี้คาดจะลดลงต่ำกว่า 3.5% ส่วนปี 2565 คาดจะอยู่ที่ 3.1% ส่วนปี 2566 คาดจะลดลงไปต่ำกว่า 3% โดยกลยุทธ์การควบคุม NPL บริษัทจะต้องมีลูกค้าที่ดี มีตัวตน และมีสามารถชำระสินเชื่อได้ดี

 

ปักธง 4 กลยุทธ์หนุนโต

ด้านกลยุทธ์การเติบโตในอนาคต บริษัทวางกลยุทธ์ไว้ 4 กลยุทธ์ คือ 1.บริษัทตั้งเป้าจะเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อครบวงจร ที่ตอบสนองความต้องการลูกค้าทุกกลุ่ม โดยการมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและมีความยืดหยุ่น ให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าและตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า โดยปัจจุบันบริษัทมีผลิตภัณฑ์ 5 กลุ่ม 1 บริการ ซึ่ง 1 ในผลิตภัณฑ์ที่บริษัทจะโฟกัสและให้ความสำคัญคือการจำนำทะเบียนรถ

 

2.การพัฒนาด้านไอที เพื่อรองรับการเติบโตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 3.ขยายพอร์ตสินเชื่ออย่างยั่งยืน และ 4.ขยายเครือข่ายการปล่อยสินเชื่อผ่านสาขาไปยังพื้นที่ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง โดย ณ สิ้นไตรมาส 3/2564 บริษัทมีสาขาทั้งสิ้น 489 สาขา จากครึ่งปีแรกที่ 451 สาขา ส่วนสิ้นปีนี้คาดจะมีสาขาครบที่ 500 สาขา

 

อนึ่ง ภาพรวมการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนของปีนี้พอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 8,709 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% เมื่อเทียบกับปี 2563 ทำให้มีรายได้จากดอกเบี้ยรวมอยู่ที่ 1,072.4ล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้จากพอร์ตสินเชื่อที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันยังคงทำสัดส่วนรายได้หลักคิดเป็น 93%

 

ทั้งนี้แยกเป็นสินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน(สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ)ทำสัดส่วนสูงสุด คิดเป็น 61.8%และ 29.7% ตามลำดับ ขณะที่รายได้จากสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอยู่ที่ 7% ส่งผลให้มีกำไรสุทธิ 222.0 ล้านบาท จาก 213.0 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง