รีเซต

GISTDA ติดตามจุดไฟป่า ใช้ NASA FIRMS ชี้เป้าพื้นที่เกิดไฟ !

GISTDA ติดตามจุดไฟป่า ใช้ NASA FIRMS ชี้เป้าพื้นที่เกิดไฟ !
TNN ช่อง16
8 เมษายน 2567 ( 12:26 )
48

จิสด้า (GISTDA) หรือสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เล็งเห็นถึงความสำคัญในการป้องกันปัญหาไฟป่า ด้วยการใช้ดาวเทียมจากนาซาร่วมกับเทคโนโลยีของจิสด้า ติดตามจุดความร้อน (Hotspot) หรือพื้นที่ที่มีค่าความร้อนสูงผิดปกติ เพื่อเข้ายับยั้งการเกิดไฟป่าในพื้นที่ไม่ให้ลุกลามในวงกว้าง รวมถึงประเมินความเสี่ยง เพื่อนำไปสู่การวางแผนรับมือในระยะยาว


ดร.สยาม ลววิโรจน์วงศ์ ผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศของ GISTDA เผยว่า ได้มีการเก็บข้อมูลสถิติของจุดความร้อนมากกว่า 10 ปี พบว่าส่วนใหญ่จะเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน มีต่อเนื่องมาจนถึงช่วงเดือนพฤษภาคม โดยข้อมูลหลัก ๆ ที่ให้บริการมี 2 ส่วน ได้แก่ ข้อมูลจุดความร้อน และ ข้อมูลพื้นที่เผาไหม้ ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อมูลที่มีความใกล้เคียงกัน แต่วิธีการเก็บข้อมูล รวมถึงจุดประสงค์การใช้งาน มีความแตกต่างกันไม่น้อย


"GISTDA มีบทบาทในการบริหารจัดการไฟป่าและพื้นที่เผาไหม้ ด้วยการใช้เทคโนโลยีจากดาวเทียมเป็นหลัก ข้อมูลที่เราให้บริการอยู่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเรียกว่า Hotspot หรือจุดความร้อน เราใช้ข้อมูลดาวเทียมหลายดวงจากต่างเซ็นเซอร์กัน พวกนี้ก็จะเป็นดาวเทียมที่ใช้ติดตามฮอตสปอตทุกวัน อีกผลิตภัณฑ์หนึ่งก็คือเรื่องพื้นที่เผาไหม้ อันนี้ก็จะเป็นพื้นที่ที่เกิดหลังจากเราตรวจจับ Hotspot ได้แล้วสามารถที่จะประเมินความเสียหายว่าพื้นที่ตรงนั้นมีความเสียหายเป็นพื้นที่เท่าไหร่"


สำหรับ ข้อมูลจุดความร้อน เป็นจุดที่สามารถระบุตำแหน่งได้ ข้อมูลนี้ได้จากดาวเทียมหลายดวงของนาซา เช่น ดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) และดาวเทียมโนอ้า ยี่สิบ (NOAA-20) ระบบเวียร์ (VIIRS) ซึ่งทำงานร่วมกัน โดยมีจุดเด่นคือมีความถี่ในการตรวจจับสูงเฉลี่ยวันละ 8 ครั้งหรืออัปเดตทุก 3 - 4 ชั่วโมง และข้อมูลที่ได้จะถูกส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าควบคุมสถานการณ์ ป้องกันการลุกลามของไฟป่าได้ 


การร่วมมือของ GISTDA และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อควบคุมสถานการณ์ไฟป่า

 

ส่วนข้อมูล พื้นที่เผาไหม้ ข้อมูลชุดนี้จะเก็บด้วยความถี่ที่ต่ำกว่า คืออัปเดตทุก 16 วัน โดยใช้ข้อมูลจาก ดาวเทียมแลนแซท-8 และ 9 (Landsat-8, 9) รวมถึงดาวเทียมเซนทิเนล-2 (Sentinel-2) มีเป้าหมายเพื่อประเมินความเสียหายของพื้นที่ที่เกิดไฟป่า นำไปสู่การวางแผนป้องกันพื้นที่เสี่ยงและบริหารจัดการพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


ดร.สยาม ลววิโรจน์วงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ปัจจุบันข้อมูลดาวเทียมที่เราใช้อยู่เนี่ยค่อนข้างทันสมัยที่สุด ยกตัวอย่างเช่นข้อมูลฮอตสปอต ก็เป็นข้อมูลดาวเทียมเดียวกับที่นาซาใช้งาน เพราะฉะนั้นค่อนข้างมั่นใจได้ว่าข้อมูลที่เราใช้งานเป็นข้อมูลที่ทันสมัย มีมาตรฐาน มีความถูกต้องสูง"


อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะใช้ข้อมูลจากดาวเทียมของนาซา แต่จิสด้าได้พัฒนาระบบประมวลผลให้ข้อมูลมีความเฉพาะเจาะจงของพื้นที่มากขึ้น ด้วยการบูรณาการเข้ากับฐานข้อมูลของไทย เช่น ข้อมูลขอบเขตการปกครอง หรือการใช้ประโยชน์ของที่ดิน จึงทำให้บอกรายละเอียดว่า จุดความร้อนที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ที่ไหน เป็นพื้นที่แบบใด เช่น เป็นนาข้าว สวนผลไม้ หรือพื้นที่ป่าไม้


ซึ่ง ดร.สยาม ยังชี้ให้เห็นว่าจากข้อมูลที่ได้เหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของจุดความร้อนของไทย ที่มีแนวโน้มลดลง อาจสะท้อนให้เห็นว่าข้อมูลจุดความร้อนส่งผลให้เกิดการจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ว่าในบางปีจะได้รับผลกระทบทางภูมิอากาศ เช่น ปรากฏการณ์เอลนีโญ หรือลานีญา ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้ปริมาณจุดความร้อนแปรปรวน "ถ้าเกิดดูย้อนหลังประมาณ 5 ปี เราจะเห็นว่าจุดฮอตสปอต จริง ๆ แล้วมันมีการลดลง โดยการเป็นเทรนด์ แต่เนื่องจากในบางปีอาจจะมีการเพิ่มมากขึ้น ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ลักษณะฮอตสปอต มีความผันผวนไปตามนั้น"


ส่วนในอนาคต จิสด้าเตรียมพัฒนาความสามารถในการติดตามไฟป่าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นจากดาวเทียมที่จิสด้าพัฒนาขึ้นมาเอง และยังได้ริ่เริ่มใช้เทคโนโลยีตรวจจับไฟป่าอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การติดตั้งหอคอยเซ็นเซอร์อัตโนมัติ เพื่อตรวจจับความร้อนในพื้นที่ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เช่น พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ช่วยวิเคราะห์ ตรวจจับได้ตั้งแต่การเกิดควัน ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปควบคุมได้ก่อนการลุกลาม ซึ่งปัจจุบันมีการติดตั้งแล้ว 1 สถานีคือที่ ดอยพระบาท จังหวัดลำปาง อันเป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก และมีการวางแผนติดตั้งเพิ่มอีกในอนาคต


หอคอยเซ็นเซอร์อัตโนมัติตรวจจับความร้อน

 

แต่อย่างไรก็ตาม การที่จะลดจุดความร้อน เพื่อลดผลกระทบอื่น ๆ ส่วนสำคัญคือต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานและประชาชน ทำงานควบคู่กันไปทั้งคนและเทคโนโลยี เพื่อใหัปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ลดน้อยลงไปได้ 


ส่วนใครที่อยากเข้าไปติดตามสถานการณ์จุดความร้อนและไฟป่า ก็สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ Disaster.gistda, Fire.gistda และ Gistda


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง