"ภาวะสุขใจที่ไม่รู้อะไร" การไม่รู้ข่าวสารบ้าง ก็ทำให้ใจสงบกว่าเดิม

นพ.เจษฎา ทองเถาว์ แพทย์เฉพาะทางสาขาจิตเวชศาสตร์ จิตแพทย์ประจำ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี ได้โพสต์บทความลงบนเฟซบุ๊ก "คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา" เกี่ยวกับ JOMO – Joy of Missing Out ภาวะสุขใจที่ไม่รู้อะไร บางทีการไม่รู้ข่าวอะไรๆบ้าง ก็ทำให้ใจสงบกว่าเดิม โดยระบุว่า
ในยุคที่ทุกอย่างเกิดขึ้นไวกว่าการหายใจลึกๆสักครั้ง การพลาดบางสิ่งในโลกโซเชียลดูเหมือนจะเป็นความผิดพลาดที่ต้องรีบชดเชยให้ทัน ใครไปคอนเสิร์ตก็ต้องไป ใครถ่ายรูปร้านกาแฟเปิดใหม่ก็ต้องตาม ข่าวไหนต ดเทรนก็ต้องตาม ฯลฯ
แต่ภายใต้ความกลัวพลาดนี้ (FOMO: Fear of Missing Out) ก็กำลังมีอีกหนึ่งแนวคิดที่เติบโตขึ้นอย่างเงียบๆ และอบอุ่นในใจ มันคือ JOMO – Joy of Missing Out หรือ “ความสุขที่ได้พลาด”
1. JOMO คืออะไร?
JOMO คือการเลือกพลาดอย่างมีสติ คือการไม่ไปร่วมวง ไม่ดูไลฟ์ ไม่ต้องอัปเดตทุกสิ่งอัน และยังรู้สึกสบายใจที่ได้อยู่กับตัวเอง มันไม่ได้แปลว่าไม่สนใจโลก แต่มันคือการยอมรับว่าโลกไม่จำเป็นต้องหมุนเร็วเท่ากันทุกคน
งานวิจัยชี้ว่า JOMO ลดความเครียดสะสมได้จริงกลุ่มที่ฝึกใช้ JOMO เป็นเวลา 2 สัปดาห์มีระดับ Cortisol(ฮอร์โมนเครียด)ลดลงเฉลี่ย 22% และรายงานความพึงพอใจในชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ทำไม JOMO ถึงเป็นพลังเยียวยาใจยุคดิจิทัล?
เพราะเราเริ่มเข้าใจว่า “ข้อมูลไม่เท่ากับคุณค่า” และ “ความเร็วไม่เท่ากับความสุข”
JOMOช่วยให้เราอยู่กับช่วงเวลาปัจจุบันโดยไม่ต้องแข่งขันกับใคร และช่วยให้จิตใจฟื้นตัวจากการเสพข้อมูลมากเกินพอดี
มีคนไข้คนหนึ่งบอกหมอว่า “หมอรู้ไหม หนูรู้สึกดีแปลก ๆ ที่ไม่ได้ตอบไลน์กรุ๊ปหรือไถฟีดอะไรเลยตลอดสามวันหยุด หนูไปกินเตี๋ยวคนเดียว ดูหนังซ้ำเรื่องเดิม แล้วก็เดินกลับห้องตอนพระอาทิตย์ตก หนูว่ามันเป็นวันหยุดที่ดีที่สุดในรอบหลายปี”
หมอฟังแล้วยิ้มออก เพราะJOMOไม่ได้ต้องมีกิจกรรมพิเศษ แค่ใจเรายอมรับได้ว่าช่วงเวลานี้มีคุณค่า แม้จะไม่มีใครเห็น ก็เพียงพอแล้ว