ภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อ 40 ปีก่อน ช่วยค้นหาทุ่นระเบิดที่หลงเหลือในกัมพูชา

ภาพถ่ายดาวเทียมจากยุคสงครามเย็นที่กองทัพสหรัฐฯ ปลดสถานะความลับและเปิดเผยข้อมูลออกมา กำลังมีบทบาทสำคัญในการค้นหาทุ่นระเบิดที่ยังหลงเหลืออยู่ในประเทศกัมพูชา หลังสงครามกลางเมืองในกัมพูชาที่ยืดเยื้อช่วงปลายทศวรรษ 1960 ถึงปลายทศวรรษ 1990 ทิ้งมรดกอันตรายไว้ทั่วผืนป่าและทุ่งนา
ช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคอมมิวนิสต์และผู้สนับสนุนประชาธิปไตย ทำให้กัมพูชามีทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดตกค้างกว่า 10 ล้านชิ้น คาดว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งยังคงฝังอยู่ใต้ดิน นับตั้งแต่สงครามสิ้นสุดในปี 1998 มีผู้เสียชีวิตจากทุ่นระเบิดกว่า 20,000 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 45,000 ราย โดยอุบัติเหตุยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โทเบียส ฮิววิตต์ (Tobias Hewitt) ผู้อำนวยการ HALO Trust องค์กรการกุศลนานาชาติที่มีภารกิจหลักในการเก็บกู้ ทุ่นระเบิด และวัตถุระเบิดตกค้างจากสงครามประจำกัมพูชา เปิดเผยกับเว็บไซต์ Space.com ว่า "แม้จำนวนอุบัติเหตุลดลง แต่ปีที่แล้วยังคงเกิดเหตุการณ์มากกว่า 50 ครั้ง ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไข"
องค์กร HALO Trust ทำงานในกัมพูชาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 ด้วยกระบวนการที่ต้องอาศัยการตรวจจับทีละตารางฟุต ซึ่งก้าวหน้าอย่างเชื่องช้า เนื่องจากขาดข้อมูลตำแหน่งที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีการวางทุ่นระเบิดโดยไม่บันทึกข้อมูลตำแหน่งไว้ตั้งแต่ช่วงสงคราม
ในปีที่ผ่านมา ทีมงาน HALO Trust ได้หันมาใช้ภาพถ่ายจากโครงการดาวเทียม HEXAGON ของสหรัฐฯ ซึ่งดำเนินการในทศวรรษ 1970 และ 1980 โดยใช้ฟิล์มที่ส่งกลับมายังโลกเพื่อพัฒนาภาพ ภาพถ่ายเหล่านี้ถูกเก็บเป็นความลับจนกระทั่งมีการปลดล็อคในปี 2011 ทำให้มีภาพกว่า 30,000 ภาพเปิดเผยต่อสาธารณชน
การนำภาพถ่ายเก่าเหล่านี้มาซ้อนทับกับแผนที่ปัจจุบัน เช่น Google Earth ช่วยให้ HALO Trust ค้นพบเส้นทางถนนเก่าและหมู่บ้านร้างในพื้นที่ตะวันตกของกัมพูชา ซึ่งเป็นจุดต้องสงสัยที่ทุ่นระเบิดอาจถูกฝังอยู่
"เราไม่สามารถรู้ได้เลยหากไม่มีภาพถ่ายเหล่านี้" ฮิววิตต์กล่าว "มันช่วยระบุตำแหน่งที่มีโอกาสสูงในการพบทุ่นระเบิดได้อย่างมาก"
สถานการณ์ยิ่งทวีความเสี่ยงมากขึ้นเมื่อชาวกัมพูชาในชนบทเริ่มใช้เครื่องจักรกลการเกษตรแทนแรงงานคน โดยไม่ทราบว่าพื้นที่บางส่วนเคยเป็นถนนสายเก่าที่เต็มไปด้วยทุ่นระเบิด โดยเฉพาะทุ่นระเบิดสังหารยานยนต์ที่ต้องใช้แรงกดมหาศาลในการจุดระเบิด ซึ่งอาจไม่เกิดอันตรายหากเดินผ่าน แต่กลับอันตรายถึงชีวิตเมื่อมีการใช้รถแทรกเตอร์หรือเครื่องจักรหนัก
แม้ว่าภาพถ่ายดาวเทียมโบราณจะช่วยเร่งกระบวนการค้นหา แต่โทเบียส ฮิววิตต์ (Tobias Hewitt) ย้ำว่างานนี้ยังคงต้องใช้ความละเอียดสูงและแรงงานจำนวนมาก โดยทีมต้องนำภาพมาซิงค์กับแผนที่ และทำการสำรวจภาคพื้นดินเพื่อยืนยันข้อมูลก่อนเริ่มเก็บกู้
ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน ทีมงานขององค์กร HALO Trust สามารถวิเคราะห์พื้นที่ต้องสงสัยทั่วภาคตะวันตกของกัมพูชา และระบุพื้นที่เสี่ยงสูงได้หลายแห่ง การระบุพื้นที่อันตรายได้อย่างรวดเร็วมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการทำลายทุ่นระเบิดทั้งหมดไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องจัดลำดับความสำคัญอย่างรัดกุม
"คุณไม่มีทรัพยากรที่จะเคลียร์พื้นที่ทั้งหมดได้" ฮิววิตต์กล่าว "เราจึงต้องโฟกัสในพื้นที่ที่มีความสำคัญสูงสุดเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด"
นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการในช่วงทศวรรษ 1990 กัมพูชาได้เคลียร์พื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดไปแล้วประมาณ 3,100 ตารางกิโลเมตร และยังเหลืออีกประมาณ 470 ตารางกิโลเมตรที่ต้องดำเนินการต่อ เป้าหมายคือกำจัดทุ่นระเบิดให้หมดภายในปี 2030