จีนอู้ฟู่ ส่งออกอุปกรณ์การแพทย์สู้โควิด อันดับหนึ่ง โกยแสนล้านดอลลาร์
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานว่า องค์การการค้าโลก (WTO) ได้ระบุว่า ประเทศจีน ได้ส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีความเกี่ยวข้องกับโคโรนาไวรัสมากที่สุดในปี 2563
โดยพบว่ามูลค่าการส่งออกอุปกรณ์ทางการแพทย์นั้นมีมูลค่าสูงถึง 105,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในต่างประเทศ และเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ยังไม่พบการระบาดของโรค และรายงานยังได้ระบุว่า การค้าสินค้าทางด้านการแพทย์ของทั่วโลกได้พุ่งแตะ 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว ในปี 2563 ที่ผ่านมา
ในขณะที่ทั่วโลกได้ตอบสนองต่อการระบาดของโคโรนาไวรัส อาทิ การออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันกานติดเชื้อ โดยคิดเป็นสัดส่วนการเติบโต 16% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สวนทางกับการค้าสินค้าประเภทอื่นทั่วโลกที่หดตัว 7.6% ในปีเดียวกัน
โดยสินค้าอุปกรณ์ด้านการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการรับมือโควิด-19 อาทิ หน้ากากอนามัย เครื่องช่วยหายใจ แอลกอฮอล์ล้างมือ เครื่องสแกนอัลตราโซนิก มีอัตราการเติบโตสูงถึง 31% ในปีดังกล่าว
และยังระบุอีกว่าประเทศที่ค้าสินค้าด้านอุปกรณ์การแพทย์ที่อยู่ในสามอันดับแรกของโลก นั้นได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี ซึ่งสัดส่วนการค้าสินค้าของทั้งสามชาติรวมรวมกันสูงขึ้นจากปี 62 ถึง 41%
ทั้งนี้นอกจาก สหรัฐอเมริกา จะเป็นผู้ส่งออกสินค้าด้านการแพทย์อันดับต้นของโลกแล้ว ก็ยังเป็นผู้นำเข้าสินค้าการแพทย์ เพื่อรับมือโควิด-19 มากสุดในโลกเช่นกัน รองลงมาคือ เยอรมนีและจีน ตามลำดับ โดยสหรัฐฯ ได้นำเข้าสินค้าจากจีนเป็นส่วนใหญ่ตามด้วย เม็กซิโก และเยอรมนี
ซึ่งการส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่งผลให้จีนกลายเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกด้านเวชภัณฑ์อันดับต้น ๆ ของโลกในปี 2563 ทั้งยังพบว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 63 มีบริษัทใหม่ในจีนจดทะเบียนผลิตหรือซื้อขายหน้ากากอนามัย 70,802 บริษัท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า 1,256%
ในขณะที่บรรดาบริษัทที่ผลิตเคยสินค้าชนิดอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 อย่างลูกกอล์ฟ บุหรี่ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ ต่างพากันเปลี่ยนสายมาผลิตหน้ากากอนามัยแทน ด้วยเหตุผลว่าสามารถทำกำไรได้ดีกว่าและสินค้าก็สามารถส่งออกได้เร็วภายในไม่กี่สัปดาห์ เนื่องจากความต้องการที่สูง
อย่างไรก็ตามแม้ว่าความต้องการสินค้าประเภทดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็อาจส่งผลให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์ในบางชนิดลดลงเช่นกัน และทำให้จีนต้องเผชิญกับการตีสินค้ากลับ เนื่องจากไม่ผ่านมาตรฐานอันเข้มงวดของบางประเทศปลายทาง
ที่มา : scmp